วันพฤหัสบดีที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2554

เอาเรื่องศาสตร์ของมิโนมาเล่าสู่กันฟังบ้าง (2)

       ในบทนี้มาว่ากันด้วยเรื่องของอุปกรณ์ที่เหมาะกับการใช้เหยื่อมิโนกันหน่อย อันที่จริงด้วยความหลากหลายของเหยื่อมิโนนี้ทำให้ ช่วงของขนาดอุปกรณ์มีความกว้างขึ้นตามไปด้วย ที่สำคัญควรเลือกคันให้เหมาะสมกับน้ำหนักของเหยื่อมิโนที่จะนำมาใช้ เน้นคันที่มีแอ็คฌั่นฟาสท์ และที่สำคัญกว่าสิ่งอื่นใดเลยคือควรเป็นชุดอุปกรณ์ที่รวมๆแล้วมีน้ำหนักเบา สบายมือสบายแขน ไม่ทำให้ล้าเพราะเกมเหยื่อปลอมเป็นเกมที่ต้องส่งเหยื่อตีสายกันทั้งวัน คันเบ็ดที่อ่อนไม่ใช่ว่าจะนำมาใช้กับเหยื่อมิโนไม่ได้ เพียงแต่เมื่อเราจะใส่เทคนิคลงไป เช่นการเจิร์คเหยื่อ การจูงเหยื่อ การสนองต่อเทคนิคเหล่านี้ คันที่อ่อนมักจะหน่วงการออกเทคนิคเหล่านี้


       สายเบ็ดที่แนะนำให้ใช้ สำหรับเหยื่อมิโนประเภทไม่ลอยไม่จม สายเบ็ดที่เหมาะสมต่อการใช้ที่สุดน่าจะเป็นสายพวกฟลูโอโรฯ เพราะสายเบ็ดนี้ ไม่ฉุดให้เหยื่อลอยหรือจมลงไปเท่าไหร่ ทำให้เราสามารถควบคุมเหยื่ออยู่ในระดับที่เราคาดหวังได้ดี แต่ถ้าใช้งานกว้างๆ สายไนล่อน หรือสายเชือกพวก PEก็พอใช้ได้อยู่เหมือนกัน



       เงื่อนที่จะใช้ผูกเหยื่อก็มีความสำคัญเหมือนกัน หากเป็นการผูกตรงโดยไม่ได้ใช้กิ๊บ เงื่อนที่มีอิสระอย่างกับเงื่อนราพาล่า จะให้ตัวเหยื่อเกิดแอ็คฌั่นที่รุนแรงกว่า แต่ถ้าเป็นเหยื่อที่มีสปริทริงใส่มาที่ห่วงลากเหยื่ออยู่แล้ว จะใช้เงื่อนยูนิน็อทก็สะดวกต่อการผูกดี



       วิธีการกรอเหยื่อมิโนนั้น นอกจากการกรอเข้ามาเฉยๆแล้ว เทคนิคSTOP & GO ก็เป็นเทคนิคที่น่าใช้ ในพื้นที่มีสภาพน้ำใส วิธีที่ผมชอบก็คือ TWITCH & JERK คือการกรอเร็วๆพร้อมกับลากปลายคันแล้วหยุดเหยื่อก่อนที่จะกระตุกข้อมือให้สะเทือนถึงปลายคัน(เจิร์ค)สัก 1-2 หน เป็นจังหวะๆแบบนี้ นอกจากนี้สำหรับพวกมิโนแบบจม บางครั้งก็จะปล่อยเหยื่อให้จมถึงพื้นแล้วก็เจิร์คสัก 1-2 หนก่อนจะกรอช้าๆสักหน่อย แล้วก็เจิร์คซ้ำอีก แบบนี้ก็ใช้ตกกะพงตามบ่อก็เคยใช้ได้ผลดีมากมาแล้ว
(โปรดติดตามในตอนต่อไป)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น