วันอังคารที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

เหยื่อนี้ใช้ยังไง 5



สวิชเชอร์

       สวิชเชอร์ เป็นเหยื่อผิวน้ำอีกประเภทหนึ่ง มีใบพัดเล็กๆอยู่ข้างหน้า หรือบางทีก็มีอยู่ข้างหลัง และก็มีบ่อยที่มีทั้งข้างหน้าและข้างหลัง เป็นเหยื่ออีกตัวหนึ่งที่ผมเลือกใช้อยู่บ่อยๆ






       ในบทนี้ก็เอาเหยื่อสวิชเชอร์ของ Tiemco ตระกูล Bass mania เหยื่อดีในอดีต ที่ปัจจุบันนี้ได้เป็นหนึ่งในเหยื่อคลาสสิค ที่มีผู้สะสมบ้างแล้ว


       ขนาดและน้ำหนัก : ตัวใหญ่ รุ่น Spark 65 ยาว 6.5 ซม. น้ำหนัก 12 กรัม
                                      ตัวเล็ก รุ่น Boo Bee 50 ยาว 50 ซม. น้ำหนัก 10.6 กรัม

       แอคฌั่นของเหยื่อ : เมื่อเหยื่อเริ่มเคลื่อนที่ในน้ำ ใบพัดเล็กๆก็จะหมุนเกิดเป็นคลื่นและเสียงที่ถี่แหลม

       การสร้างแอคฌั่น : ที่จริงเหยื่อสวิชเชอร์นี้ แค่เรากรอสายเข้าเฉยๆเหยื่อก็จะเกิดแอคฌั่นเองอยู่แล้ว หากใบพัดไม่หมุนอาจจะเป็นเพราะติดขัด ให้เราเจิร์คแรงๆช่วย ใบพัดก็จะหมุน 

       จังหวะและลีลา : โดยมากผมจะเจิร์คแล้วกรอ หรือบางทีก็ลากมาเฉยๆนานๆทีก็เจิร์คแรงๆสักหน
       
       สถานะการณ์ที่เลือกใช้  สำหรับบ่อกระพงก็ใช้ตีเลาะขอบบ่อ เหมือนกับใช้เหยื่อผิวน้ำทั่วไป, ในกรณีที่อยู่บนเรือ โยนเข้าหาตลิ่งแล้วลากออกมาในจุดที่น้ำโล่ง หวังผลกับช่อน กระสูบได้ แต่ที่สำคัญไม่ควรใช้ในพื้นที่ที่มีสาหร่ายเรี่ยน้ำ เพราะใบพัดของสวิชเชอร์จะติดได้ง่ายกว่าใบพัดขนาดใหญ่ของเหยื่อใบพัดแบบอื่น  

วันจันทร์ที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

เหยื่อนี้ใช้ยังไง 4



เพนซิล ผิวน้ำ


       เพนซิล ผิวน้ำ เป็นเหยื่อที่แบบหนึ่งที่มีความคลาสสิค มีเทคนิคการใช้ที่น่าสนใจ และเป็นเหยื่อที่ยังเร้าใจปลาล่าเหยื่อเสมอมา




       ในบทนี้ ขอนำเอาเหยื่อเพนซิลผิวน้ำต้นตำรับที่คงรูปแบบมาเกือบ 100 ปี เป็นเหยื่อตัวนึงที่นักตกปลาควรจะมีไว้ในครอบครอง เหยื่อที่ว่านี้ก็คือ เหยื่อของ Heddon รุ่น Zara Spook
เหยื่อ Heddon รุ่น Zara Spook สีเขียวโรยกากเพชร
หน้าตาแบบนี้ถูกออกแบบขึ้นมาตั้งแต่ปี 1939 เป็นความคลาสสิคที่ควรมีไว้

       ขนาดและน้ำหนัก : ยาว 4 ½ นิ้ว น้ำหนัก ¾ ออนซ์ (ประมาณ 21.2 กรัม)

       แอคฌั่นของเหยื่อ : เหยื่อรุ่นนี้คือต้นตำรับแอคฌั่นที่เรียกว่า จูงหมาเดิน หรือภาษาฝรั่งเรียก Walk the dog ลีลาของเหยื่อก็คือ เหยื่อจะแทงหัวไปซ้ายทีขวาทีสลับกันไป เร้าความสนใจปลาล่าเหยื่อได้ดีมาก

       การสร้างแอคฌั่น : จูงเหยื่อด้วยปลายคันขึ้นมาแล้วลดคันปล่อยสายหย่อน แล้วเก็บสายเล็กน้อย คล้ายกับการทำเสียงป๊อบให้กับเหยื่อป๊อปเปอร์ แต่ไม่ต้องแรงขนาดนั้น ฝึกฝนเพียงไม่นานก็จะจับจังหวะได้

       จังหวะและลีลา : แอคฌั่นจูงหมาเดินเป็นลีลาที่เคลื่อนที่แบบไม่เร็วนัก โดยมากจะใช้ลอยตามขอนไม้ลอยน้ำ มีบ้างที่บางทีก็กรอสายเข้ามาให้เหยื่อวิ่งทื่อๆระยะหนึ่งแล้วสลับมาเป็นจูงหมาเดินก็มี

       สถานะการณ์ที่เลือกใช้ : เลาะตามขอนไม้ลอยน้ำในแหล่งน้ำนิ่งหวังผลกับชะโด, หรือตีไปกลางน้ำตกกระพงบ่อ, ด้วยน้ำหนักที่ค่อนข้างเยอะก็สามารถใช้โยนเข้าฝูงกระสูบตอนขึ้นโป่งได้ ฯลฯ

วันอาทิตย์ที่ 29 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

เหยื่อนี้ใช้ยังไง 3

Scumfrog จากชื่อยี่ห้อ ถูกเรียก
เสียจนกลายเป็นชื่อเหยื่อไปแล้ว


กบลุยสวะ

       กบลุยสวะ เป็นเหยื่อที่ผมนึกถึงเป็นอย่างแรกหากหมายนั้นเต็มไปด้วยอุปสรรคเรี่ยน้ำ เช่น มีกอหญ้า สาหร่าย เพราะตัวเบ็ดทั้งตัวจะถูกซ่อนเข้าในตัวเหยื่อ และคมเบ็ดจะแนบกับผิวเหยื่อทำให้มีความสามารถในการกันการติดสวะได้ดีในระดับหนึ่ง





       ในบทนี้ ขอนำเอาเหยื่อกบหลบสวะที่หน้าตาหล่อเหลา เป็นที่รู้จักกันดีในหมู่นักตกปลาบ้านเราระดับหนึ่ง เหยื่อที่ว่านี้ก็คือ เหยื่อของ Imakatsu รุ่น Raijin Jiraiya
กบลุยสวะของ Imakatsu รุ่น Raijin Jiraiya
       ขนาดและน้ำหนัก : ยาว 6 ซม. น้ำหนัก 14.2 กรัม

       แอคฌั่นของเหยื่อ : ด้วยพู่ขนที่ยื่นออกมาเป็นขาทั้ง 4 ข้าง จะเป็นตัวเรียกร้องความสนใจ และเมื่อเหยื่อเคลื่อนที่ไปบนผิวน้ำก็จะเกิดคลื่นน้ำเร้าปลาล่าเหยื่อได้ดี

       การสร้างแอคฌั่น : ใช้งานง่ายมาก แค่กรอเฉยๆเหยื่อก็เกิดแอคฌั่นแล้ว หรือแค่เขย่าปลายคันนิดหน่อย เหยื่อก็จะมีลักษณะคล้ายแมลงตกน้ำ แต่ถ้ากดปลายคันลงใกล้ผิวน้ำแล้วกรอเร็วสักนิด เหยื่อก็จะมุดน้ำในระดับตื้นๆ และเมื่อหยุดกรอเหยื่อก็จะค่อยๆลอยขึ้นมา

       จังหวะและลีลา : เทคนิคที่ใช้เป็นประจำก็คือกรอเข้ามาเฉยๆ และบางทีก็ใช้สลับกับการเขย่าปลายคัน แต่ที่สำคัญคือหากปลาเข้ากัดเหยื่อแล้วอย่าเพิ่งรีบวัด ควรให้ปลาขยอกเหยื่อสักหน่อยก่อนแล้วจึงตวัดเบ็ดให้เต็มแรง โอกาสปลาติดจะมีสูงมากขึ้น ควรใช้ร่วมกับสายโมโนลีดฯขนาด 30 ปอนด์เทสขึ้นไป หรือสลิงยาวสัก 2-3 นิ้ว 

       สถานะการณ์ที่เลือกใช้ : ตกช่อนบ่อเลี้ยงสลิด, ใช้ตกกระพงที่อยู่ในน้ำตื้นๆ, หรือช่อนตามก่อนหุบเงียบๆก็พอได้ ฯลฯ

       คำแนะนำเพิ่มเติม จาก พี่ดุ๊ก ในกรณีที่เป็นสระบัว กบลุยสวะนี้ สามารถสร้างแอคฌั่นที่ใกล้เคียงกับกบธรรมชาติ เช่น ลากขึ้นไปพักบนใบบัว จากใบหนึ่งไปสู่อีกใบหนึ่ง เรียกร้องความสนใจจากช่อน ชะโดได้ดีเหมือนกัน

วันเสาร์ที่ 28 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

เหยื่อนี้ใช้ยังไง 2

ลิ้นของเหยื่อจะบอกได้ว่าตัวไหนดำลึกตัวไหนดำตื้น
อย่างในภาพตัวเล็กด้านบนสุดจะดำตื้นที่สุด

แคร้งค์เบท


       แคร้งค์เบท เป็นเหยื่อที่มีพิสัยการทำงานอยู่ในระดับกว้าง คือตั้งแต่ลึกลงไปจากผิวน้ำไม่กี่นิ้ว จนดำน้ำลงไปหลายฟุต แล้วแต่ลักษณะของลิ้นแคร้งค์เบทตัวนั้นๆ นอกจากนี้ ยังมีทั้งในแบบที่ลอย และจม ให้เลือกอีก ดังนั้นแคร้งค์เบทจึงเป็นเหยื่อที่มักจะจูงใจให้ผมเลือกซื้อก่อนเหยื่อแบบอื่นเสมอๆ







       ในบทนี้ ขอนำเอาเหยื่อแคร้งค์เบทที่ทั้งดีและถูกมาแนะนำ เหยื่อที่ว่านี้ก็คือ Daiwa Peanut 
เหยื่อแคร้งค์เบทของ Daiwa รุ่น Peanut   

       ขนาดและน้ำหนัก : ทั้งคู่เรียกเป็นขนาดเดียวกันคือ ความยาว 5 ซม. น้ำหนัก 9 กรัม

       แอคฌั่นของเหยื่อ : เป็นเหยื่อที่ส่ายค่อนข้างแรง สร้างแรงสั่นสะเทือนได้ดี มีเสียงในตัวเอง ตัวดำตื้นลงอยู่ที่ประมาณ 1 เมตร ตัวดำลึกลงที่ประมาณ 2 เมตร ดำน้ำลงระดับไวใช้ได้ และลอยตัวค่อนข้างเร็ว

       การสร้างแอคฌั่น : ใช้งานง่ายมาก แค่กรอเฉยๆเหยื่อก็เกิดแอคฌั่นแล้ว แต่หากกรอเร็วเกินเหยื่อก็จะพลิก

       จังหวะและลีลา : เทคนิคที่ใช้เป็นประจำก็คือกรอเข้ามาเฉยๆแต่เทคนิคที่ใช้บ่อยนอกเหนือไปจากกรอเข้าเฉยๆ ก็จะเป็นการกรอสลับกับหยุด แต่ก็มีบ้างที่จะกรอร่วมกับเจิร์คเหยื่อ

       สถานะการณ์ที่เลือกใช้ : เลาะแนวสาหร่ายในตอนที่ตกกระสูบ, ขูดผิวน้ำดินตอนตกกระพงบ่อหรือปลาช่อน, ล้วงเฉียดตอไม้หวังปลาหวงถิ่นบ้าง ฯลฯ

วันศุกร์ที่ 27 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

“เหยื่อนี้ใช้ยังไง?” 1


ป๊อปเปอร์ 



       ป๊อปเปอร์   เป็นเหยื่อที่ได้รับความนิยมมากที่สุดแบบหนึ่งของเหยื่อผิวน้ำ ลักษณะที่โดดเด่นของเหยื่อประเภทนี้คือ จะมีถ้วยเสียงอยู่ที่ด้านหน้าบริเวณปาก 









      ในบทนี้จะของนำเอาเหยื่อป๊อปเปอร์ของราพาล่า รุ่น Skitter Pop ขนาด 9 ซม. สี F มาแนะนำก็แล้วกัน เพราะเป็นเหยื่อตัวหนึ่งที่ผมเลือกใช้เป็นตัวแรกๆ ในการตกปลาในแต่ละที่

       ขนาดและน้ำหนัก : ความยาว 9 ซม. น้ำหนัก 14.2 กรัม


       แอคฌั่นของเหยื่อ : แอคฌั่นของเหยื่อตัวนี้ ที่โดดเด่นที่สุดก็คือการทำให้เกิดเสียง “ป๊อป” หรือ เราอาจจะกรอช้าๆมาเรื่อยๆโดยไม่ป๊อปก็ได้เหมือนกัน


       การสร้างแอคฌั่น :เสียง “ป๊อป” จะเกิดขึ้นโดยการ กระตุกปลายคัน จังหวะที่จะกระตุก สายเบ็ดจากปลายคันถึงเหยื่อต้องไม่ตึง แต่ก็ไม่ต้องหย่อนจนเกินไป พอเรากระตุกปลายคัน เหยื่อก็จะกระโจนแล้วถ้วยเสียงก็จะตบน้ำ เกิดเป็นเสียง “ป๊อป” อย่างที่ต้องการ


       จังหวะและลีลา : โดยมาก หลังจากที่ส่งเหยื่อเข้าหมายแล้ว ผมจะป๊อปทีนึงก่อน แล้วก็ปล่อยให้เหยื่อลอยสักพัก นับประมาณ 1-2-3 แล้วก็ป๊อปต่ออีก 2 ครั้งติดกัน แล้วก็พักนับ 1-2-3 ก่อนจะป๊อปอีกครั้ง อย่างนี้ไปเรื่อยๆจนเหวี่ยงเหยื่อใหม่ จังหวะในลักษณะนี้ จะเรียกความสนใจจากปลาได้ในพื้นที่กว้างๆ
       อีกวิธีหนึ่ง ก็จะลากเหยื่อมาสักนิดนึงก่อนแล้วก็ป๊อปครั้งนึง แล้วก็ลากเหยื่อสลับกับป๊อปไปเรื่อยๆ
       ท้ายสุด ลากช้าๆมาเรื่อยๆ นึกอยากป๊อปเมื่อไหร่ก็ป๊อปสักทีนึง แล้วก็หยุดเหยื่อสักพัก แล้วก็ลากเหยื่อไปเรื่อยๆต่อ


       สถานะการณ์ที่เลือกใช้ : ใช้ตกในบ่อปลากระพง, ใช้ตกกระสูบตามชายสาหร่าย, ใช้ตกชะโดในดงตอไม้ ฯลฯ


วันพุธที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

การเกี่ยวเหยื่อด้วยเบ็ดอ๊อฟเซ็ท (เบ็ดเกี่ยวหนอนยาง)

       ย่างที่เคยบอกกล่าวไปแล้วในหลายๆที่ว่า ที่จริงเหยื่อยางนี่โดยมากไม่ได้ทำขึ้นมาจากยาง มันถูกทำขึ้นจากพลาสติกนิ่ม แต่เรียกกันติดปากว่าเหยื่อยางผมจึงเรียกโดยอนุโลมไปตามๆกัน
       เหยื่อยางมีแบบหลากหลาย แต่ที่เป็นที่นิยมใช้กันในบ้านเราก็จะมีหนอนยางสำหรับวิธีการตกแบบเท็กซัส แล้วก็กบยางตัวตันๆ(ที่ไม่ใช่แบบกบยางหลบสวะ : scumfrog) สำหรับการตกปลาชะโดหรือปลาช่อนตามเขื่อน นอกจากนั้นก็จะเป็นปลายางบ้าง ที่เห็นน้อยที่สุดเห็นจะเป็นพวกแมลงยาง


       ในครั้งนี้จะพูดถึงวิธีการเกี่ยวเหยื่ออยางด้วยตัวเบ็ดแบบมีออฟเซ็ท หรือจะพูดให้เข้าใจง่ายก็เบ็ดเกี่ยวหนอนนั่นแหละ ก่อนอื่นให้เทียบสัดส่วนของเบ็ดกับเหยื่อที่จะใช้ก่อน เพื่อดูว่าคอหยักของออฟเซ็ทจะอยู่ตรงไหนของเหยื่อ และท้องเบ็ดจะแทงตรงไหนของเหยื่อ






       เกี่ยวเบ็ดทะลุทางหัวเหยื่อให้มาออกตรงที่กะไว้ว่าคอหยักออฟเซ็ทจะพัก ตาเบ็ดไม่ควรโผล่ออกมาจนเห็นก้าน หรือจมหายลงไปในตัวเหยื่อ 






       เทียบตำแหน่งท้องเบ็ดอีกครั้ง แล้วแทงเบ็ดทะลุในตำแหน่งที่กะไว้ 







       ถ้าเบ็ดเข้าในตำแหน่งที่ถูก ตัวเหยื่อควรจะอยู่ในทรงเดิม ไม่งอหยุ่น หรือไม่เหยียดตึงจนเกินไป และคมเบ็ดควรจะแนบไปกับตัวเหยื่อ






       ท้ายสุดเก็บซ่อนปลายคมเบ็ดฝังเข้าไปในเนื้อเหยื่อเล็กน้อย เพื่อหลบสวะ





       นี่เป็นพื้นฐานการเกี่ยวเหยื่อด้วยเบ็ดออฟเซ็ท ซึ่งสามารถนำไปใช้กับริก(ชุดปลายสาย) ได้หลายๆแบบ ไม่ว่าจะเป็นเท็กซัส แคโรไลน่า หรือว่าจะเป็นแบบไม่ใช้ตะกั่ว

ฃอให้ตวัดติดทุกครั้งที่ปลากิน...

วันอังคารที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

การสร้างแอคฌั่นให้กับเหยื่อปลอม

       หยื่อปลอมเกือบทุกประเภทมีแอคฌั่นอย่างน้อย1รูปแบบที่กระตุ้นให้ปลาล่าเหยื่อเกิดความอยากกัด ไม่ว่าจะเป็นด้วยเหตุผลหนึ่งเหตุผลใดก็ตาม ดังนั้นการสร้างแอคฌั่นให้เหยื่อเกิดลีลาและจังหวะที่เร่งเร้าก็ถือเป็นเรื่องที่สำคัญมากประการหนึ่ง แอ็คฌั่นของเหยื่อปลอมส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อ เหยื่อนั้นๆมีการเคลื่อนไหว และ 3 วิธีการใหญ่ๆที่จะสร้างความเคลื่อนไหวให้กับเหยื่อได้ก็คือ การจูงเหยื่อด้วยเรือ การกรอสาย และการใช้คันเบ็ดจูงเหยื่อ

       การจูงเหยื่อด้วยเรือ เรียกกันทั่วไปว่าการทรอลลิ่ง วิธีการนี้ก็ไม่มีอะไรมาก แค่เซ็ทอุปกรณ์ให้พร้อม ปล่อยสายในระยะที่เหมาะสม ปักคันไว้กับกระบอกพักคัน แล้วแล่นเรือจูงเหยื่อด้วยความเร็วพอเหมาะ วิธีการนี้เหมาะสำหรับการหวังผลในพื้นที่กว้างๆ ไม่เจาะจงนัก เช่นลากผ่านหินกองต่างๆในทะเล หรือวิ่งลากในคลองสาขาตามเขื่อน ฯลฯ


       การกรอสาย เกือบทั้งหมดของเหยื่อปลอมถูกสร้างขึ้นให้เกิดแอคฌั่นเมื่อเรากรอสายลากเหยื่อด้วยความเร็วระดับหนึ่งๆ ทีนี้เหยื่อแต่ละตัวจะเกิดแอคฌั่นบนพิสัยของการกรอสายที่แตกต่างกัน นักตกปลาควรรู้ว่าเหยื่อตัวที่กำลังหยิบใช้อยู่นี้ เกิดแอคฌั่นที่การกรอเร็วระดับช้าสุดแค่ไหน และเร็วสุดแค่ไหนที่เหยื่อจะไม่เสียแอ็คฌั่น แอ็คฌั่นที่เกิดจากการกรอนี้ก็ทำกันอยู่ 3 รูปแบบ คือ
       1. กรอในความเร็วระดับหนึ่งอย่างสม่ำเสมอ จะกรอช้าหรือกรอเร็วก็ตาม แต่กรอด้วยระดับความเร็วหนึ่งๆอย่างค่อนข้างจะสม่ำเสมอ การกรอแบบนี้ เหยื่อจะเกิดแอคฌั่นในรูปแบบที่คงที่
       2. การกรอแบบสลับความเร็ว จะเริ่มต้นจากการช้าสลับกับเร็ว หรือเร็วสลับกับช้าก็ได้ การกรอแบบนี้ เหยื่อจะเกิดแอคฌั่นในลีลาที่แตกต่าง
       3. การกรอสลับหยุด เราอาจจะกรอด้วยความเร็วที่แตกต่างกันไปก็ได้ แต่ตอนหยุดนี่โดยมากผมจะนับ 1-2 ในใจแล้วก็กรอต่อ หรือบางครั้งผมก็หยุดยาวหลายวินาทีแล้วกรอต่อก็มีเหมือนกัน วิธีกรอแบบนี้ เหยื่อจะวิ่งมาแล้วก็หยุด โดยมากปลาจะเข้าชาร์จจังหวะที่เหยื่อหยุดแล้วกำลังจะไปต่อ

       การใช้คันเบ็ดจูงเหยื่อ โดยมากวิธีการนี้จะเป็นเทคนิคที่ใช้กับเหยื่อพลาสติกนิ่ม แต่บางครั้งก็สามารถใช้กับพวกเหยื่อตระกูลปลั๊กได้เหมือนกัน
       1. ใช้คันจูงเหยื่อจังหวะสั้นๆหลายๆจังหวะพอเมื่อสายหย่อนก็เก็บสายให้ตึง วิธีนี้บางทีก็เรียกว่าเคาะเหยื่อ ผมเห็นเทคนิคนี้บ่อยๆที่บ่อหนุ่มบางปะกง กับเหยื่อกระดี่ หรือบางทีตัวผมเองก็ใช้วิธีนี้ตอนใช้กับตกเท็กซัส
       2. ใช้คันจูงเหยื่อเร็วๆสลับกับกรอเก็บสายตึง เรียกกันติดปากว่า เจิร์คเหยื่อ วิธีนี้ใช้ได้กับเหยื่อพลาสติกนิ่ม เหยื่อปลั๊กพวกเหยื่อจม หรือเหยื่อปลั๊กแบบซัสเพนด์(ไม่ลอยไม่จม) รูปแบบของแอคฌั่นจะคล้ายกับการกรอสลับหยุดแต่จะเป็นไปอย่างที่รุนแรงมากกว่า
       3. ใช้คันจูงเหยื่อยาวๆแล้วกรอสายเก็บ เทคนิคนี้ใช้กับเหยื่อพลาสติกนิ่มที่หางพริ้วยาวๆ หรือเหยื่อปลั๊กที่มีลิ้นส่ายแรงๆ
       ทั้งหมดนี้เป็นพื้นฐานการสร้างแอคฌั่น ที่นักตกปลาสามารถนำไปประยุกต์พลิกแพลงใช้ให้เหมาะสมในแต่ละสถานะการณ์ และถ้าหากนักตกปลาสามารถจับจังหวะที่กระตุ้นปลาล่าเหยื่อได้ นักตกปลาคนนั้นก็จะได้สนุกทุกไม้ที่เหยื่อว่ายน้ำกลับมาหา
       ฃอให้ค้นพบแอคฌั่นที่เร้าปลาทุกครั้งที่ตกปลา... 

วันอาทิตย์ที่ 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

เรื่องของตัวเบ็ด

       นั่งอ่านหัวข้อเก่าๆย้อนดูก็รู้สึกเอะใจว่าเราลืมอะไรบางอย่างในหมวดของอุปกรณ์ตกปลาไป สืบค้นดูก็รู้ว่าผมยังไม่ได้พูดถึงเรื่องของ “ตัวเบ็ด” เลย

       ตัวเบ็ดนี่เรียกได้ว่าเป็นอุปกรณ์ที่มีความสำคัญเป็นอันดับต้นๆของการตกปลาเลยก็ว่าได้ เกือบทุกวิธีของการตกปลาต้องมีตัวเบ็ดเป็นอุปกรณ์หลักส่วนหนึ่ง ดังนั้นผมจึงอยากแนะนำให้พวกเราได้รู้จักกับตัวเบ็ดไว้บ้าง


       ตั้งแต่สมัยโบราณ มนุษย์รู้จักคิดค้นนำเอากระดูกสัตว์หรือเขาสัตว์มาทำเป็นตัวเบ็ด ซึ่งไม่น่าเชื่อว่าแม้ว่าจะผ่านยุคสมัยมาเท่าไหร่ องค์ประกอบของตัวเบ็ดมีความเปลี่ยนแปลงน้อยมาก จะมีที่เปลี่ยนไปบ้างก็ได้แก่รูปทรง วัสดุ และกรรมวิธีการสร้างทำ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็เป็นไปเพื่อการใช้งานให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดกับปลาที่เราต้องการจะตก
       กายวิภาคของตัวเบ็ดแยกส่วนออกมาง่ายๆเป็น 6 ส่วนดังต่อไปนี้
  1. ตาเบ็ด หรือบางทีก็เรียก ตูดเบ็ด โดยมากมีอยู่ 2 ลักษณะ คือ แบบตูดห่วง กับแบบตูดแบน
  2. ก้านเบ็ด มีขนาดยาว-สั้นแตกต่างกันไปตามแต่การใช้งาน ก้านยาวอำนาจทะลุทะลวงต่ำ แต่ป้องกันคมเขี้ยวของปลาได้ระดับหนึ่ง
  3. ความกว้างของตัวเบ็ด มีลักษณะแตกต่างไปตามแต่วัตถุประสงค์การใช้ ยิ่งกว้างมากความสามารถในการทะลุทะลวงจะลดต่ำลง แต่ลดโอกาสฉีกขาดของแผลได้ดีกว่า
  4. คมเบ็ด หรือเกสรเบ็ด ยิ่งบางยิ่งคมอำนาจทะลุทะลวงยิ่งสูง แต่ความแข็งแรงก็จะต่ำลง โดยเฉพาะเมื่อแทงโดนส่วนแข็งเช่นกระดูกส่วนปาก มีเบ็ดบางแบบถูกออกแบบมาให้เกสรเบ็ดเบี่ยงออกจากก้านเบ็ด เพื่อเพิ่มโอกาสแทงทะลุให้กับคมเบ็ด
  5. เงี่ยงเบ็ด มีเพื่อป้องกันการถอยหลุดของตัวเบ็ด แต่เงี่ยงเบ็ดนี้หากกว้างมาก อำนาจการทะลุทะลวงก็จะต่ำลง และเพื่อการปลดปลาปล่อยที่ง่ายขึ้น จึงได้มีการผลิตตัวเบ็ดแบบไม่มีเงี่ยงขึ้น ซึ่งตัวเบ็ดประเภทนี้ นักตกปลาเพียงรักษาความตึงของสายได้ตลอดช่วงการสู้ปลา เรื่องปัญหาก่อถอยหลุดของตัวเบ็ดก็จะลดลงไปได้มาก
  6. ท้องเบ็ด เป็นจุดคล้องปลา จะทำงานทันทีที่เกสรเบ็ดได้แทงทะลุผ่านแล้ว บางแบบอาจมีการทับแบนเพื่อเพิ่มความแข็งแรงของตัวเบ็ด
       ประเภทของตัวเบ็ดอย่างคร่าวๆ
       เบ็ดแบบตัวเจ เบ็ดแบบนี้มีรูปทรงคล้ายอักษรเจในภาษาอังกฤษ เป็นเบ็ดที่พบเห็นได้ทั่วไป แยกย่อยออกเป็นก้านสั้น-ก้านยาว, ตูดห่วง-ตูดแบน, หน้าบิด-หน้าไม่บิด, หลังมีเงี่ยง ฯลฯ แทบจะเรียกได้ว่ามีแบบให้เลือกใช้มากที่สุดในตลาด


       เบ็ดท้องกว้าง เบ็ดแบบนี้มีลักษณะการใช้งานเกือบจะเฉพาะด้าน เช่น เบ็ดตกกุ้ง แต่โดยประสบการณ์ผม ผมเคยนำไปใช้เกี่ยวกุ้งเป็นตกปลาม้าในแม่น้ำบางปะกงอยู่เหมือนกัน



       เบ็ดเซอร์เคิ่ล เบ็ดแบบนี้มีคุณสมบัติพิเศษตรงที่เป็นเบ็ดที่ไม่ตวัดแล้วปลาจะติด แต่หากตวัดสวนปลาจะไม่ติดเบ็ด จึงเหมาะกับการใช้ตกปลาน้ำลึก สายเบ็ดหย่อนท้องช้างยากแก่การตวัดเบ็ด ลักษณะการใช้งานคือเมื่อปลาลากสายแล้ว ให้โหนคันรั้งสายให้ตึง แค่นั้นปลาก็จะติดเบ็ดแล้ว โดยมากเบ็ดแบบนี้มักจะเข้าฝังที่ขอบปาก (อันนี้ พี่ติ่ง แสมสาร บอกมา)





       เบ็ดสองทาง, เบ็ดสามทาง เบ็ดแบบนี้โดยมากถูกออกแบบมาให้ใช้กับเหยื่อปลอม เพื่อเพิ่มโอกาสการติดเบ็ดของปลา มีบางครั้งที่เรานำไปใช้กับเหยื่อไม่ปลอมบ้าง เช่นใช้กับเหยื่อสด หรือเหยื่อเป็น
       แต่ข้อจำกัดของเบ็ดพวกนี้คือ เมื่อมีโอกาสติดปลามาก โอกาสติดสวะหรือสาหร่ายก็มากเช่นเดียวกัน นักตกปลาจึงมีการคิดค้นทำการ์ดกันสวะกันมาหลากหลายรูปแบบ หากมีโอกาสจะนำวิธีการทำการ์ดเหล่านี้มาเสนอให้พวกเราได้รู้กัน




       เบ็ดเกี่ยวเหยื่อหนอนยาง เบ็ดแบบนี้ที่ก้านจะมีแนวหยักพิเศษ เพื่อให้ส่วนนี้เป็นตัวกั้นไม่ให้เหยื่อหนอนยางไหลรูดลงไปกองที่ท้องเบ็ด




       นอกจากนี้ หลักการเลือกใช้ตัวเบ็ด นักตกปลาควรพิจารณาความทนต่อสนิม แน่นอนว่าเบ็ดที่ทำจากแสตนเลสย่อมทนต่อสนิมได้ดีกว่าเบ็ดที่ทำจากเหล็ก แต่เบ็ดที่ทำจากเหล็กมีความคมสูงกว่าเบ็ดที่ทำจากแสตนเลส และเบ็ดที่ทำจากเหล็กที่ผ่านกรรมวิธีชุบที่ดี ก็สามารถทนต่อสนิมได้ดีในระดับหนึ่งเช่นกัน
       กรรมวิธีการชุบแข็งตัวเบ็ด วัสดุแต่ละอย่างมีขั้นตอนการสำเร็จชิ้นงานที่แตกต่างกัน ไม่ว่าจะเป็นกรรมวิธีการเสริมความแข็งโดยการทับแบนในเบ็ดแสตนเลส หรือจะเป็นการชุบแข็งเสริมธาตุคาร์บอนในเบ็ดไฮ-คาร์บอน ทั้งหลายทั้งปวงนี้ก็เป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์ให้ตัวเบ็ดนั้นมีความแข็งแรงพอที่จะต้านแรงที่เกิดขึ้นในระหว่างการตกปลา 
       ตัวเบ็ดยี่ห้อที่ดีจึงควรมีค่าเฉลี่ยความแข็งแรงของตัวเบ็ดที่ไม่แตกต่างกันมากนัก ทั้งนี้เพื่อเป็นความมั่นใจให้กับนักตกปลาว่าตัวเบ็ดที่กำลังใช้อยู่ตอนนี้จะไม่เหยียดง้างเมื่อเจอกับเกมส์หนัก หรือไม่แกร่งเกินจนหักเมื่อต้องทนกับแรงเครียดในเกมส์ยาวๆ
       ฃอให้ตวัดเบ็ดติดปลาทุกครั้งที่ปลากิน...
 

วันพุธที่ 11 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

ได้ไปตกปลากันซะที...


       หลังจากที่เรียนรู้มาจนพร้อมจะออกภาคสนามแล้ว อีกเรื่องที่ควรรู้ไว้เป็นอย่างยิ่งก็คือ ขั้นตอนการสู้ปลาครับ จริงๆมันเป็นเรื่องที่ดูเหมือนไม่ยากสำหรับผู้ที่ชำนาญแล้ว แต่สำหรับมือใหม่ก็ดูเป็นเรื่องที่โกลาหลอยู่พอสมควรทีเดียว ไหนจะตื่นเต้นจากปลากินเบ็ด อีกทั้งยังกลัวปลาหลุดปลาขาดอีก เคยเห็นที่บ่อตกปลาหลายครั้งอยู่เหมือนกัน ที่พอปลากินเบ็ดแล้วก็ได้แต่ร้อง “ว๊ายๆ” อย่างเดียว ไม่หมุนรอก ไม่ตั้งคัน เก้ๆกังๆอยู่ตรงขอบบ่อ จนปลาหลุดไปก็มีอยู่บ่อยๆ
       ดังนั้น ครั้งนี้ก็อยากจะลำดับขั้นตอนการสู้ปลาให้ได้รู้กันว่ามันจะเกิดอะไรขึ้นบ้างหลังจากที่ปลาเข้าสไตรค์เหยื่อ เป็นอีกครั้งที่ต้องขอบคุณกูเกิ้ลที่ช่วยหาภาพประกอบให้เข้าใจได้ง่ายขึ้น

       จำไว้ว่าต้องเตรียมตัวเตรียมใจเสมอทุกครั้งที่เหวี่ยงเหยื่อออกไปว่าจะมีโอกาสที่ปลาเข้าสไตรค์เหยื่อ โดยเฉพาะพวกเหยื่อผิวน้ำที่บางทีกรอเพลินๆ ถูกปลาเข้าซัดตูมทำให้ตกใจจนหัวใจเกือบวายก็มี เมื่อปลาเข้าสไตรค์เหยื่อ แรงกระชากจะส่งผ่านสายถึงปลายคันรับรู้ได้

       หากเป็นเหยื่อที่มีเบ็ดห้อยอย่างอิสระให้ลดคันลงนิดนึงก่อนจะตวัดย้ำเบ็ด ทำแบบนี้จะสร้างแรงตวัดคมเบ็ดให้ทะลุทะลวงได้ดีขึ้น แต่กับเหยื่อบางอย่าง เช่น เหยื่อยางที่มีการซ่อนปลายคมเบ็ด ต้องส่งสายให้ปลาขย้อนเหยื่อก่อน ก็ตามแต่สูตรใฅรสูตรฅนนั้น โดยส่วนตัวผมจะให้ระยะหนึ่งพอสายตึงก็ตวัดสวนให้เต็มแรง

       การตวัดเบ็ดอาจทำมากกว่าหนึ่งครั้ง แต่ไม่ควรย้ำเบ็ดบ่อย เพราะแผลจะฉีกกว้างเป็นสาเหตุให้เบ็ดหลุดได้ ต่อจากนั้นก็จะเข้าสู่ขั้นตอนการสู้ปลา การสู้ปลานี้ก็ไม่ใช่ตะบี้ตะบันกรอรอกอย่างเดียว จุดสำคัญคือให้ดูกำลังปลาเป็นหลัก ถ้ามั่นใจว่าเซ็ทน้ำหนักเบรกไว้ดีแล้วก็ไม่ควรจะปรับน้ำหนักเบรกเพิ่มเติม ปลาส่วนใหญ่จะมีแรงมากในจังหวะแรกของการสู้เบ็ด จำไว้หลักสำคัญการสู้ปลามีอยู่ว่า “ถ้าปลาวิ่ง ปล่อยให้ปลาสู้กับเบรกของรอกและแรงต้านที่เกิดจากคัน พอเมื่อปลาหยุดให้แรงดีดของคันทำงาน เราเพียงแต่รักษาความตึงของสายเบ็ดไว้โดยการกรอสายเก็บให้ทัน”
       หรือจะให้เข้าใจง่ายกว่านั้นก็คือ “เมื่อปลาวิ่งให้ตั้งคันไว้ พอปลาอ่อนแรงให้ลดคันลงแล้วกรอสายเก็บ”



       เมื่อเก็บสายเข้ามาใกล้จนได้ระยะจบเกมส์แล้ว จังหวะนี้ต้องสังเกตให้ดีว่าปลานั้นหมดแรงจริงหรือไม่ ถ้าหากตั้งใจจะปล่อยปลาตัวนั้นก็ควรจะรีบจบเกมส์ เพื่อจะได้รีบปลดเบ็ดและรีบปล่อยไป ส่วนจะช้อนเองแบบในภาพ หรือจะให้ฅนอื่นช่วยช้อนก็ได้ ที่สำคัญ ฅนช้อนปลาต้องเข้าใจวิธีช้อนให้ดี






       หลักการช้อนปลาคือควรจะช้อนจากทางหัวปลา ไม่ใช่ใช้สวิงไปไล่ควานหาปลา หย่อนสวิงลงในน้ำ จูงปลาเข้าหาสวิง หากปลายังดิ้นโครมคราม หรือว่ายังมีแรงอยู่ไม่ควรรีบช้อน ควรให้ปลาหมดแรงเหมือนกับภาพด้านล่างนี้ จะเห็นได้ว่าปลาหงายท้องแล้ว ให้ลากหรือจูงปลาเข้าถุงสวิง เมื่อหัวปลาเข้าถุงสวิงจนเลยครีบหูหรือครีบอกไปแล้ว ก็ให้ช้อนขอบสวิงขึ้นพ้นน้ำ ฅนถือคันควรหย่อนสายลง ให้ปลาเข้าถุงสวิงให้ดีก่อน แล้วยกสวิงขึ้น วิธีการยกก็ควรให้ด้ามสวิงทำแนวตั้งกับพื้นน้ำ เพราะหากยกในลักษณะงัดด้ามสวิงอาจจะหักได้



       ทั้งหมดนี้ก็เป็นวิธีการสู้ปลาตั้งแต่ปลาสไตรค์จนถึงช้อนปลาขึ้นจากน้ำ จำไว้ว่าหากจะปล่อยปลาที่ได้ ไม่ควรขังปลาไว้ดูเล่นก่อน เพราะปลาจะเครียดจัดจนตายไป รีบปลด รีบถ่ายรูป(ถ้าจะทำ) แล้วก็รีบปล่อยปลาไป
       ฃอให้สนุกกับการตกปลา

วันอาทิตย์ที่ 8 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

ปลากินเหยื่อเพราะอะไร

       ตอนแรกว่าจะเขียนถึงการเหวี่ยงเหยื่อในเทคนิคอื่นๆ เช่น พิทชิ่ง สกิปปิ้ง ฯลฯ แต่มานึกดูแล้ว เท่าที่เขียนมาหลายๆตอน ก็พร้อมที่จะไปตกปลาแล้ว รู้เรื่องอุปกรณ์แล้ว รู้เรื่องเหยื่อแล้ว เหวี่ยงเป็นแล้ว รู้ว่าปลาอยู่ที่ไหนแล้ว เหลืออีกข้อเดียวที่อยากให้รู้ก็เป็นเรื่องของปลากินเหยื่อเพราะอะไร...
       ปลากินเหยื่อเพราะอะไร ในที่นี้ผมขอจำแนกประเภทการกินจากเหยื่อที่ใช้ตก คือ เหยื่อปลอม และเหยื่อสด
       ในส่วนของเหยื่อปลอม โดยตำราฝรั่งมังค่า เค้าจำแนกการเข้ากัดเหยื่อไว้ 4 ประเภท คือ
- กัดเหยื่อเพราะเข้าใจว่าเป็นอาหาร เป็นเรื่องธรรมชาติมาก สิ่งมีชีวิตต้องกินอาหาร และถ้าเราเข้าใจธรรมชาติการกินของปลาที่เราจะตก ก็ง่ายที่จะทำให้ปลาเป้าหมายเข้ากินเหยื่อของเรา
- กัดเหยื่อเพราะหวงถิ่นดุร้ายหรือเลี้ยงลูกอ่อน ดังที่รู้ๆกันเช่น ปลาแม่ครอกกัดเหยื่อที่คุกคามฝูงลูก หรือปลาที่กัดรังพวกมีปลาอื่นเข้าก่อกวนก็กัดไล่ เช่นปลากด ปลานิล เป็นต้น
- กัดเหยื่อเพราะตกใจ เจอบ่อยในกรณีที่เหยื่อตกน้ำแล้วถูกชาร์จเลย หรือกรอเหยื่อผ่านข้างตัวแล้วถูกชาร์จเฉยๆด้วยความตกใจ
- กัดเหยื่อเพราะความอยากรู้อยากเห็น ปลาก็เป็นสิ่งมีชีวิตที่มีพฤติกรรมอยากรู้อยากเห็นเหมือนกับสิ่งมีชีวิตประเภทอื่นๆ และข้อสำคัญความอยากรู้นั้นอยากรู้ว่ากินได้หรือไม่ และไม่มีมือที่จะสัมผัส สิ่งเดียวที่ทำได้ก็คือ การใช้ปากเข้าฮุบ เพราะฉนั้นเราจะเห็นบ่อยว่าบางบ่อใช้เหยื่อที่แตกต่างก็จะได้รับการสนองดีเป็นพิเศษ แต่ก็มีบ่อยครั้งที่เห็นปลาตามเหยื่อมาเฉยๆ
วิธีการตกปลาอายู ตัวบนออกมาไล่ตัว
ปลาต่อ แล้วติดเบ็ดเข้าที่หลัง

  ในส่วนของเหยื่อจริง ไม่ว่าจะเป็นเหยื่อเป็น เหยื่อสด เหยื่อสังเคราะห์ หรือเหยื่อผสม ฯลฯ จำแนกการกินเหยื่อไว้ดังนี้
- กินเพราะเป็นอาหาร เหมือนกับทฤษฎีการกัดเหยื่อของเหยื่อปลอม เพียงแต่การเลือกเหยื่อต้องให้ถูกกับประเภทของปลาที่จะตก และสร้างแรงดึงดูดจูงใจให้ปลาเป้าหมาย นอกจากนี้ช่วงเวลาก็มีผลเป็นอย่างมากด้วยเช่นกัน
- กินเพราะหวงถิ่น ในการใช้เหยื่อเป็นบางครั้งก็ถูกกัดปลาปลาเหยื่อเข้าไปในเขตของปลาบางอย่าง หรือปลาอย่างเดียวกัน เช่นการตกปลาอายูของญี่ปุ่น

  เหล่านี้เป็นทฤษฎีหนึ่งที่ว่าด้วยการกินเหยื่อของปลาในมุมหนึ่งเท่านั้น ผมใช้แนวคิดเหล่านี้เป็นพื้นฐานแล้วจินตนาการต่อไปอีกให้เกิดความเหมาะสมกับสถานะการณ์และสถานที่
        จะให้ดี ควรย้อนกลับไปดูบท ตกปลาให้ได้ผล ต้องตกที่ที่มีปลา! ประกอบก็จะทำให้จินตนาการวิธีตกได้ดีขึ้น
        ฃอให้สนุกกับการตกปลา...

วันพฤหัสบดีที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

การส่งเหยื่อเข้าหมาย

       ในการตกปลาด้วยเหยื่อปลอมนั้น มีประโยคทองที่ดังก้องอยู่ในโสตสำนึกผมอยู่ตลอดก็คือ “ตีเหยื่อแม่นให้ผลดีกว่าตีไกล” ที่กล่าวอย่างนี้เพราะว่า การตกปลาด้วยเหยื่อปลอมนั้นต่างจากการใช้เหยื่อสดตรงที่ เราจะต้องส่งเหยื่อไปในจุดหวังผล ซึ่งจุดหวังผลนั้นรวมถึงเส้นทางเดินของเหยื่อขณะที่กรอกลับมาด้วย แต่หากการตกปลาด้วยเหยื่อจริงนั้น เหยื่อจะทำหน้าที่เรียกร้องให้ปลาเข้าหาเหยื่อเอง ดังนั้นการใช้เหยื่อจริงเราจึงนึกถึงการฟุ้งกระจายของกลิ่นในพื้นที่ แตกต่างจากการส่งเหยื่อเข้าที่จุดของเหยื่อปลอม
       ก่อนที่จะพูดถึงการตีเหยื่อในรูปแบบอื่น ก็ขอพูดถึงการตีเหยื่อขั้นพื้นฐานเสียก่อน พอดีไปเจอรูปประกอบพื้นฐานการเหวี่ยงที่ดีที่ทางเวบ http://fishingbasics.co.cc/ หามาเห็นเป็นประโยชน์ดีก็เลยขออนุญาตินำมาเผยแพร่ต่อในบล็อคนี้ ณ.ที่ตรงนี้เลยก็แล้วกัน






       รูปแรกที่เห็นนี้ เป็นขั้นตอนการเหวี่ยงส่งเหยื่อด้วยชุดอุปกรณ์แบบสปินนิ่ง มีทั้งหมด ขั้นตอน ดังนี้
       1. ใช้นิ้วชี้เกี่ยวสายจากหน้ารอกพักไว้ แล้วเปิดหน้ารอก
       2. เล็งเป้าหมายและทิศทาง โดยให้ปลายสายอยู่ในระดับสายตา
       3. วาดคันเบ็ดกลับไปด้านหลัง จนกระทั่งมีความรู้สึกตึงที่นิ้วชี้ที่เกี่ยวพักสาย
       4. ตวัดคันกลับมาที่จุดเล็งเป้าหมาย
       5. เมื่อถึงระยะที่เล็งไว้ในครั้งแรก ให้ปล่อยนิ้วที่พักสาย น้ำหนักของปลาสายจะพาสายเบ็ดพุ่งออกไปที่เป้าหมาย ใช้นิ้วชี้แตะที่ขอบสปูลไว้เป็นตัวชลอความเร็วการคลายสาย
















       รูปต่อมา เป็นขั้นตอนการเหวี่ยงส่งเหยื่อด้วยชุดอุปกรณ์แบบเบท คาสติ้ง มีทั้งหมด 4 ขั้นตอน ดังนี้
       1. ปรับตั้งแรงหน่วงที่เหมาะสม ใช้นิ้วโป้งกดล็อคสปูลไว้ เปิดฟรีสปูล บิดข้อมือให้สปูลตั้งฉากกับระดับน้ำ
       2. วาดคันเบ็ดกลับไปด้านหลัง จนกระทั่งมีความรู้สึกมีแรงตึงที่ปลายคัน
       3.วาดคันกลับมาที่จุดเล็ง พร้อมปล่อยนิ้วโป้งที่ล็อคสปูลไว้ น้ำหนักของปลาสายจะพาสายเบ็ดพุ่งออกไปที่เป้าหมาย ใช้นิ้วโป้งเป็นตัวชลอความเร็วของสปูลป้องกันอาการสายฟู่
       4.สับล็อคสปูล กรอสายให้เหยื่อเกิดแอ็คฌั่น














       เคล็ดไม่ลับของบิ๊กเม้าธ์ ค่อยๆหาระยะช่วงของปลายคันกับปลายสาย หากเจอจุดที่เหมาะสมการเหวี่ยงเหยื่อจะเกิดประสิทธิภาพสูงสุด ระยะนี้จะสัมพันธ์กับน้ำหนักปลายสายและความเร็วในการเหวี่ยงเหยื่อ
       สำหรับการปรับหน่วงของชุดอุปกรณ์เบท คาสติ้ง สำหรับผู้ที่ไม่คุ้นเคย แนะนำให้เริ่มจากความฝืดสูงก่อน แล้วค่อยๆปรับคลายออก ไม่ควรคลายหน่วงเกินจนสปูลคลอน เพราะอาจเป็นสาเหตุของความเสียหายของอุปกรณ์ได้

ฃอให้เหวี่ยงเหยื่อลงตรงเป้าหมายที่วางไว้