วันจันทร์ที่ 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

Sébile : Innovative Fishing

        เมื่อกลางเดือนกุมภาพันธุ์ที่ผ่านมา ผมได้มีโอกาสไปร่วมงานเปิดตัวเหยื่อแบรนด์ใหม่จากค่ายเพียวฟิชชิ่งที่บ่อไพลอทฟิชชิ่งปาร์คบางสมัคร



        เหยื่อที่นำมาแนะนำในวันนี้ เป็นเหยื่อในแบรนด์ Sébile ซึ่งอันที่จริงเหยื่อนี้ก็ไม่ใช่เหยื่อโนเนมที่ไหน เป็นเหยื่อแบรนด์ดังระดับโลกที่ได้รับการออกแบบโดยMr.Patrick Sebileนักตกปลาผู้ช่ำชองมีรางวัลมากมายเป็นเครื่องยืนยัน โดยประวัติของแพทริก เขาเริ่มหัดทำเหยื่อใช้เองมาตั้งแต่ 9 ขวบ และเคยร่วมงานพัฒนาสินค้ากับแบรนด์ดังๆที่พวกเราคุ้นเคยอยู่หลายแบรนด์ นอกจากนี้ เขายังมีผลงานบทความลงในนิตยสารต่างๆทั่วโลกกว่า 160 ฉบับ แพทริกได้ก่อตั้ง เซบิล ลัวร์ คอมปานี ขึ้นในปี 2005 การสร้างสรรเหยื่อของแพทริกจะคำนึงถึงพฤติกรรมของปลา โดยอาศัยประสบการณ์ที่สั่งสมมา รวมเข้ากับเทคโนโลยีที่ทันสมัย ใช้วัสดุที่มีคุณภาพ และทดสอบจริงก่อนจะเข้าสู่กระบวนการผลิต

        เหยื่อของ Sébile  ที่จะนำเสนอในวันนี้ มีดังนี้


        ในกลุ่มแรก เป็นเหยื่อในกลุ่มมีลิ้น ตัวแรกของแนะนำ ACAST Minnow มีรหัส SL&ML เหยื่อตัวนี้ได้รับการออกแบบมาเพื่อการส่งเหยื่อไกล สามารถใช้ได้กับสายเล็กสุดถึงขนาด 6 ปอนด์เทส ลักษณะเด่นตรงหนอกโค้งหลังเหยื่อนี้จะเป็นตัวสร้างคลื่นน้ำเร้าความสนใจของปลาล่าเหยื่อ มีลิ้น 2 แบบ คือ SL : Small lip และ ML: Medium lip   

        Crankster มีรหัส SR & MR เหยื่อตัวนี้มีลักษณะอวบอ้วน เรียบ ทำให้การส่งเหยื่อได้ระยะที่ไกลกว่า ในรุ่น SR : Shallow runner นั้นพื้นที่การใช้งานอยู่ที่ประมาณ 10 - 30 เซนติเมตรใต้ผิวน้ำ การแกว่งส่ายของเหยื่อจะสร้างคลื่นน้ำเร้าปลาล่าเหยื่อเป็นอย่างดี ส่วนรุ่น MR : Medium runner ตัวนี้พื้นที่การทำงานจะอยู่ที่ 30 - 60 เซนติเมตร ด้วยลิ้นใหญ่และองศาที่ต่ำ ทำให้เหยื่อสามารถดำน้ำได้ดีแม้จะเป็นการลากด้วยอัตราความเร็วต่ำ

        Rattlser เหยื่อตัวนี้มีขนาดของลิ้นที่หลากหลาย ให้เราสามารถเลือกพื้นที่การดำลึก-ตื้นได้ตามที่ต้องการ ภายในตัวเหยื่อมีลูกปืนหลายเม็ด เมื่อเหยื่อทำงานก็จะส่งเสียงสนั่น เหมือนปลาทั้งฝูงที่อลหม่านแตกตื่นช่วยกระตุ้นสัญชาตญาณนักล่าให้กับปลาล่าเหยื่อที่อยู่ในบริเวณนั้นๆได้ดี
        Slender Eel ลักษณะที่โดดเด่นของเหยื่อตัวนี้คือ รูปร่างที่เล็กเพรียว กับลิ้นขนาดเล็กซึ่งเหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการเล่นเกมส์เหยื่อปลอมด้วยสายเล็ก เห็นลิ้นเล็กๆอย่างนี้สามารถดำน้ำได้ถึง 90 เซนติเมตรเลยนะครับ เมื่อเรากรอสายในอัตราเร็วที่แตกต่างก็จะเกิดแอ็คฌั่นที่แตกต่างออกไป สามารถใช้ได้ในหลายเทคนิค ไม่ว่าจะกรอเฉยๆ หรือ เจิร์คแล้วหยุด หรือจะเจิร์คแล้วกรอ


        Koolie Minnow มีรหัส SL, ML, LL, BRL สำหรับเหยื่อตัวนี้ผมได้รับตัวอย่างรุ่น LL : Long lip มาตัวหนึ่ง จากการทดลองแอ็คฌั่นดูแล้ว รู้สึกได้ว่า เป็นตัวเหยื่อที่สร้างแรงสั่นสะเทือนได้ดี ดำลงพื้นที่ทำงานได้ในระยะสั้น เกิดแอ็คฌั่นได้แม้จะกรอในอัตราเร็วต่ำ เชื่อว่าน่าจะเป็นเหยื่อที่ใช้งานง่ายตัวหนึ่ง


        ต่อไปเป็นเหยื่อในกลุ่มลิปเลส Flatt Shad มีรหัส SU, SK, XH เป็นเหยื่ออีกตัวหนึ่งที่ได้รับตัวอย่างในรุ่น SU คือรุ่นไม่ลอยไม่จมมา เมื่อทดลองใช้ดูแล้ว รู้สึกได้ว่าเป็นเหยื่อที่สามารถใช้ได้ในระดับความลึกที่หลากหลาย คือสามารถสร้างแอ็คฌั่นได้ทันทีตั้งแต่เหยื่อตกถึงผิวน้ำ หรือจะเจิร์คเหยื่อเพื่อให้ลงไปที่ระดับที่ต้องการแล้วเริ่มสร้างแอ็คฌั่น แรงสั่นสะเทือนจากตัวเหยื่อถือว่าแรงดี น่าจะสร้างแรงเร้าให้กับปลาล่าเหยื่อได้ดี


        Magic Swimmer มีรหัส FSK, SK, SSK เป็นเหยื่อลิปเลสอีกตัวหนึ่ง มีลักษณะที่โดดเด่นตรงที่ลำตัวเป็นท่อนต่อ แน่นอนว่าด้วยลักษณะแบบนี้ ก็จะสร้างแอ็คฌั่นเลื้อยส่ายที่เย้ายวนปลาล่าเหยื่อให้ต้องเหลียวมอง หากเป็นมือกะพง ผมอยากแนะนำให้ลองใช้ รุ่น SSK การจมอย่างช้าๆ สลับกับการเจิร์คสั้นๆ ผมเชื่อว่าแอ็คฌั่นแบบนี้ยากที่กะพงตัวใดจะไม่สนใจ


        Stick Shad SU เหยื่อที่ไม่ลอยไม่จมอีกตัวที่ผมดูแล้วรู้สึกว่าน่าใช้มาเลยทีเดียว ด้วยน้ำหนักและรูปทรงที่ลงตัว ทำให้เกิดความสามารถตัดลมได้ตีแม้จะตีสวนลม นอกจากนี้ที่บริเวณท้องเหยื่อได้รับการดีไซน์ให้มีลักษณะสันท้องคล้ายกระดูกงูที่ช่วยให้เหยื่อไม่พลิกไปพลิกมา ซึ่งจะช่วยให้ตัวเบ็ดทำงานได้ทรงประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น


        Bonga Jerk เหยื่ออีกตัวที่มีสันท้องจึงทำให้สามารถใช้ได้ดีแม้แต่จะลากเหยื่อด้วยความเร็วสูงค่อนข้างมากเช่นทรอลลิ่ง ตัวเหยื่อออกจำหน่ายในหลายขนาด ในรุ่นเล็กสุดขนาด 95 มิลลิเมตร เหมาะต่อการใช้ขว้างกรอแบบการตีเหยื่อปลอมทั่วไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งในวันที่ผิวน้ำมีคลื่นมีลม แต่ในขนาดใหญ่สุด 215 มิลลิเมตร รุ่นนี้จะตีตามชายเกาะเพื่อเกมกระมงหรือจะทรอลลิ่งกลางทะเลก็ได้


        ทีนี้มาดูกันในกลุ่มของเหยื่อผิวน้ำดูบ้าง ขอเริ่มที่ Bonga Minnow ก่อนเลย เหยื่อรุ่นนี้ ถูกดีไซน์ให้มีลำตัวที่อวบหนา ทำให้เกิดน้ำหนักและการตัดลมที่ดีเยี่ยม นอกจากนี้ จากตำแหน่งของจุดคล้องสายตรงนี้ จะช่วยให้การสร้างแอ็คฌั่นแบบ “วอล์ก เดอะ ด๊อก” ทำได้อย่างง่ายดาย หรือจะใช้เทคนิค “สต๊อป แอนด์ โก” และด้วยมุมป้านที่หัวของเหยื่อก็จะสร้างคลื่นน้ำเรียกความสนใจจากปลาล่าเหยื่อได้ดีเช่นเดียวกัน




        Splasher เหยื่ออีกตัวที่ได้รับตัวอย่างมาทดลอง ด้วยสันท้องอันเป็นลักษณะเฉพาะของเหยื่อ Sébile ทำให้เหยื่อป๊อปตัวนี้ สามารถป๊อปเสียงต่อเนื่องได้โดยที่เหยื่อไม่เกิดอาการพลิกไปมา กลุ่มน้ำที่กระจายออกมาจากการป๊อปก็มีขนาดกำลังดี แล้วคุณป้อมจากบ่อบุษราคัมตอกย้ำความน่าเชื่อถือโดยการตกกะพงขึ้นมาได้จากการเหวี่ยงเหยื่อในครั้งแรก เป็นเหยื่อที่น่าจะลองหาซื้อมาใช้กันนะครับ




        Slim Stick ด้วยรูปทรงที่แปลกตาเห็นเพียงแว้บแรกก็รู้ได้ทันทีว่าเหยื่อตัวนี้ไม่ธรรมดาแน่ แล้วก็เป็นจริงอย่างที่ว่า เมื่อคุณเอกผู้แนะนำเหยื่อ เรียกชื่อเล่นของเจ้าตัวนี้ว่า “ไอ้เลื้อย” มันเป็นเหยื่อที่ทำแอ็คฌั่นวอล์ก เดอะ ด๊อก ได้ง่ายมากๆ หรือแม้แต่กรอเข้ามาเฉยๆ ตัวเหยื่อก็จะเคลื่อนที่เข้ามาในลักษณะเลื้อยมาสมชื่อ บอกได้เลยว่า แอ็คฌั่นแบบนี้ ยากที่ปลาล่าเหยื่อจะอดใจไม่กัดไหว


        Proppler Buzz ผมนิยามเจ้าเหยื่อตัวนี้ให้เป็นบัซเบทที่พัฒนาแล้ว ในส่วนที่เป็นใบพัด มีลักษณะเป็นทุ่นกลวง มีเสียงลูกปืนลั่นกราวเมื่อใบพัดหมุน จุดที่ผมชอบที่สุดในเหยื่อตัวนี้คือ หากเป็นบัซเบททั่วไป เราจะต้องกรอต่อเนื่องเพื่อรักษาการลอยที่ผิวน้ำไว้ แต่สำหรับเจ้าเหยื่อตัวนี้ มันไม่จมน้ำแม้เราจะหยุดกรอ ดังนั้นมันจึงเป็นบัซเบทแอ็คฌั่นใหม่ ที่เราสามารถใช้เทคนิค สต๊อป แอนด์ โก ได้!
        เหยื่อตัวสุดท้ายที่ได้รับการแนะนำในวันนี้ เป็นเหยื่อพลาสติกนิ่ม ที่มาพร้อมกับตัวเบ็ด และอุปกรณ์เสริมคือท่อนถ่วงแทนตะกั่วฟิวส์ที่เราใช้ถ่วงเหยื่อไม่ให้พลิก มันเป็นเหยื่อที่ได้รับการพัฒนามาจากเหยื่อ Magic Swimmer มันจึงได้ชื่อง่ายๆง่าย Magic Swimmer Soft ด้วยคุณสมบัติของพลาสติกนิ่มเอง และร่องบากด้านข้างของตัวเหยื่อ ทำให้เหยื่อตัวนี้มีแอ็คฌั่นที่สะบัดสะบิ้งสะดีดสะดิ้งเย้ายวนปั่นป่วมอารมณ์ปลานักล่าอย่างเป็นที่สุด เราสามารถเกี่ยวในลักษณะเวทเลส หรือจะเกี่ยวในรูปแบบดร๊อปช๊อตก็ได้
        นอกจากเหยื่อที่แนะนำไปแล้วข้างต้นนี้ Sébile ก็ยังมีเหยื่ออื่นๆที่จะมานำเสนอต่อนักตกปลาบ้านเรามีมากมาย แล้วนอกจากเหยื่อปลอมแล้ว Sébile ก็ยังมีแอซเซสซอรี่ส์อื่นๆอีกมาก ไม่ว่าจะเป็นหัวจิ๊ก ห่วงสปริทริง หรือแม้แต่ คลิ๊ปคล้องเหยื่อให้เราเลือกใช้อีกหลายแบบ สมแล้วกับสโลแกนที่ว่า Sébile เป็นนวัตกรรมของการตกปลา
        ปล. ไม่ได้เข้ามาอัพเดทบล็อกมาพักใหญ่ๆ ขอขอบคุณแฟนๆที่ยังคอยติดตามบล๊อกนี้นะครับ และต่อไปอีกไม่นาน BiXmOUTh Fishing Classroom นี้คงมีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการนำเสนอ โปรดติดตามกันไปนะครับ....

วันพฤหัสบดีที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2554

เอาเรื่องศาสตร์ของมิโนมาเล่าสู่กันฟังบ้าง (3)


       นตอนท้ายสุดนี้ ก็ฃอหยิบยกเอาเรื่องการtuning เหยื่อมิโนมาสำหรับนักตกปลาที่ต้องการจะปรับแต่งเหยื่อให้เป็นเหยื่อเฉพาะตัวก็แล้วกัน
       การปรับแต่งเหยื่อมิโนนี้ในเบื้องแรก เอาอย่างง่ายที่สุดกันก่อน ก็คือการปรับระดับความถ่วงจำเพาะของตัวเหยื่อ ที่เป็นที่นิยมของนักตกปลาชาวญี่ปุ่นเลยก็คือการแปะแผ่นตะกั่วเพิ่มน้ำหนัก เพื่อปรับจากเหยื่อลอยให้เป็นเหยื่อแบบไม่ลอยไม่จม สิ่งที่สำคัญก็คือ การแปะตะกั่วนี้ต้องคำนึงถึงความบาลานซ์ของเหยื่อด้วย โดยมากการแปะตะกั่วจะแปะกัน 2 จุด คือ ที่ใต้ท้องเหยื่อหลังเบ็ดตัวท้อง 1 จุด และก็ที่หลังลิ้นอีก 1 จุด ที่ติดอย่างนี้ก็เพื่อต้องการให้เหยื่อแขวนลอยในลักษณะขนานเลียนแบบปลาเหยื่อในธรรมชาตินั่นเอง แต่สำหรับนักตกปลาที่ไม่ชอบความยุ่งยากในเรื่องการไปหาตะกั่วแผ่น การเปลี่ยนตัวเบ็ดที่หนาขึ้นและหนักขึ้นก็สามารถปรับความถ่วงจำเพาะของเหยื่อมิโนได้เช่นกัน
ภาพจาก www.bassdozerstore.com
       การปรับแต่งอีกแบบที่เป็นระดับแอดวานซ์ขึ้นไปอีกก็คือการปรับแต่งลิ้นของเหยื่อ การปรับแต่งลักษณะนี้โดยมากเป็นไปอย่างปรับแล้วปรับเลย คือจะทำให้เหยื่อตัวนั้นก็คืนสภาพเก่าอีกได้ยาก วิธีการที่เห็นก็มีตั้งแต่ตะไบลิ้นทิ้งไป กรอลิ้นในสั้นลง ทั้งหลายทั้งปวงนี้ก็ขึ้นอยู่กับความต้องการของนักตกปลาคนนั้นๆ แต่โดยส่วนตัวผมแล้ว ผมจะแต่งลิ้นเหยื่อก็ต่อเมื่อเหยื่อนั้นได้รับความเสียหายมาก่อน เช่นอาจจะเกิดอุบัติเหตุลิ้นหัก การกรอลิ้นก็อาจจะทำให้เหยื่อตัวนั้นสามารถนำกลับมาใช้อีกได้
       มี 4 ข้อใหญ่ที่จะทำให้นักตกปลาสามารถใช้เหยื่อมิโนได้อย่างเชี่ยวชาญก็คือ
       ต้องหมั่นตี หรือใช้เหยื่อมิโนให้บ่อย เพราะการใช้บ่อยนี้จะทำให้เราได้รู้จักแอ็คฌั่นของเหยื่อ การควบคุมความเร็วการกรอ การกะระยะเผื่อหากตกในที่มีกระแสน้ำ หรือได้เรียนรู้สัมผัสที่เกิดขึ้นกับเหยื่อส่งผ่านสายขึ้นมาถึงตัวนักตกปลา สิ่งเหล่านี้จะเรียนรู้ได้ก็ต่อเมื่อนักตกปลาได้ใช้เหยื่อนั้นจนเกิดความคุ้นชิน จึงจะสามารถควบคุมเหยื่อให้เรียร้องความสนใจจากปลาล่าเหยื่อได้เต็มสมรรถภาพของตัวเหยื่อ
       สังเกตการทำงานของตัวเหยื่อ ข้อนี้สืบเนื่องมาจากข้อที่แล้ว คือนอกจากหมั่นใช้หมั่นตีแล้ว นักตกปลาต้องหมั่นสังเกตด้วยว่า เมื่อเราใช้เหยื่อตัวนี้กับปัจจัยแวดล้อมต่างๆ เช่น ชุดอุปกรณ์ไหน ขนาดสายเท่าไหร่ สภาพน้ำแบบไหน (น้ำนิ่ง-น้ำไหล, น้ำใส-น้ำขุ่น) แล้ว เหยื่อที่ใช้นั้นเกิดแอ็คฌั่นอะไร เรียกร้องความสนใจจากปลาล่าเหยื่อได้ดีแค่ไหน ยิ่งโดยเฉพาะเมื่อใช้ในหมายที่มีสภาพน้ำใสแล้ว สิ่งที่อยากให้สังเกตมากที่สุดก็คือ ปลาฉวยเหยื่อด้วยแอ็คฌั่นอย่างไร กัดตอนหยุด หรือว่ากัดตอนกรอ กัดตอนเหยื่อกำลังลอยขึ้น หรือกัดตอนเหยื่อกำลังจม สิ่งเหล่านี้หากนักตกปลาได้สังเกตและรวบรวมไว้เป็นข้อมูลพื้นฐาน แล้วนำมาประมวลเพื่อเป็นตัวช่วยในการตัดสินใจเลือกเหยื่อในครั้งต่อไป
       ฝึกฝนการใช้เทคนิคกับเหยื่อ ดังที่กล่าวพูดถึงมาแล้วในเบื้องต้น เทคนิคต่างๆเหล่านี้นักตกปลาควรเรียนรู้จะจดจำไว้ ปลาก็เหมือนกับสิ่งมีชีวิตทั่วไป มีความอยากรู้อยากเห็น และความสามารถในการจดจำ เทคนิคเดิมๆบางครั้งก็ไม่สามารถเร้าให้ปลาล่าเหยื่อเกิดความสนใจในตัวเหยื่อได้เหมือนกัน ดังนั้นการสร้างแอ็คฌั่นที่แตกต่างก็ควรจะฝึกฝนใช้บ้าง เทคนิคหนึ่งที่นึกขึ้นได้ว่ายังไม่ได้พูดถึงในตอนนี้เลยก็คือการหย่อนสาย ด้วยเทคนิคนี้เหยื่อจะเกิดการเคลื่อนไหวที่แตกต่างออกไปอีกแบบหนึ่ง ในเหยื่อที่มีลิ้นเมื่อกรอๆแล้วเราลดคันลงหย่อนสายให้เล็กน้อย เหยื่อจะเกิดการถอยตัวเล็กน้อย ถ้าเป็นเหยื่อแบบไม่ลอยไม่จม เหยื่อจะชะงักกึ๊ก ปลาล่าเหยื่ออาจจะฉวยเหยื่อในจังหวะนี้ก็เป็นไปได้ แต่มีข้อควรระวังอยู่อย่างสำหรับเทคนิคนี้ก็คือ หากหย่อนสายเร็วเกินไป สายอาจจะขึ้นไปพันกับทิปทอป แล้วเมื่อปลาฉวยคันก็อาจจะหักได้เช่นกัน
       สุดท้ายเลยที่จะฝากไว้สำหรับศาสตร์ของการใช้เหยื่อมิโนนี้ก็คือ การกรอสายให้ช้าครับ การกรอเร็วนั้นเหยื่อจะเกิดคลื่นเสียง แต่การกรอช้าจะทำให้ปลาล่าเหยื่อระบุตำแหน่งของเหยื่อได้ มีหลายหนเหมือนกันที่การกรอแล้วหยุดไม่ได้ผล หรือการทวิตช์แอนด์เจิร์คก็บอดสนิท ถึงตอนนี้แหละ การกรอช้าๆ ช้ามากๆ ก็อาจจะทำให้ปลาไม่ลังเลที่จะเข้ากัดก็เป็นได้ ทดลองดูนะครับ

ฃอให้สนุกกับการใช้เหยื่อมิโนครับ

เอาเรื่องศาสตร์ของมิโนมาเล่าสู่กันฟังบ้าง (2)

       ในบทนี้มาว่ากันด้วยเรื่องของอุปกรณ์ที่เหมาะกับการใช้เหยื่อมิโนกันหน่อย อันที่จริงด้วยความหลากหลายของเหยื่อมิโนนี้ทำให้ ช่วงของขนาดอุปกรณ์มีความกว้างขึ้นตามไปด้วย ที่สำคัญควรเลือกคันให้เหมาะสมกับน้ำหนักของเหยื่อมิโนที่จะนำมาใช้ เน้นคันที่มีแอ็คฌั่นฟาสท์ และที่สำคัญกว่าสิ่งอื่นใดเลยคือควรเป็นชุดอุปกรณ์ที่รวมๆแล้วมีน้ำหนักเบา สบายมือสบายแขน ไม่ทำให้ล้าเพราะเกมเหยื่อปลอมเป็นเกมที่ต้องส่งเหยื่อตีสายกันทั้งวัน คันเบ็ดที่อ่อนไม่ใช่ว่าจะนำมาใช้กับเหยื่อมิโนไม่ได้ เพียงแต่เมื่อเราจะใส่เทคนิคลงไป เช่นการเจิร์คเหยื่อ การจูงเหยื่อ การสนองต่อเทคนิคเหล่านี้ คันที่อ่อนมักจะหน่วงการออกเทคนิคเหล่านี้


       สายเบ็ดที่แนะนำให้ใช้ สำหรับเหยื่อมิโนประเภทไม่ลอยไม่จม สายเบ็ดที่เหมาะสมต่อการใช้ที่สุดน่าจะเป็นสายพวกฟลูโอโรฯ เพราะสายเบ็ดนี้ ไม่ฉุดให้เหยื่อลอยหรือจมลงไปเท่าไหร่ ทำให้เราสามารถควบคุมเหยื่ออยู่ในระดับที่เราคาดหวังได้ดี แต่ถ้าใช้งานกว้างๆ สายไนล่อน หรือสายเชือกพวก PEก็พอใช้ได้อยู่เหมือนกัน



       เงื่อนที่จะใช้ผูกเหยื่อก็มีความสำคัญเหมือนกัน หากเป็นการผูกตรงโดยไม่ได้ใช้กิ๊บ เงื่อนที่มีอิสระอย่างกับเงื่อนราพาล่า จะให้ตัวเหยื่อเกิดแอ็คฌั่นที่รุนแรงกว่า แต่ถ้าเป็นเหยื่อที่มีสปริทริงใส่มาที่ห่วงลากเหยื่ออยู่แล้ว จะใช้เงื่อนยูนิน็อทก็สะดวกต่อการผูกดี



       วิธีการกรอเหยื่อมิโนนั้น นอกจากการกรอเข้ามาเฉยๆแล้ว เทคนิคSTOP & GO ก็เป็นเทคนิคที่น่าใช้ ในพื้นที่มีสภาพน้ำใส วิธีที่ผมชอบก็คือ TWITCH & JERK คือการกรอเร็วๆพร้อมกับลากปลายคันแล้วหยุดเหยื่อก่อนที่จะกระตุกข้อมือให้สะเทือนถึงปลายคัน(เจิร์ค)สัก 1-2 หน เป็นจังหวะๆแบบนี้ นอกจากนี้สำหรับพวกมิโนแบบจม บางครั้งก็จะปล่อยเหยื่อให้จมถึงพื้นแล้วก็เจิร์คสัก 1-2 หนก่อนจะกรอช้าๆสักหน่อย แล้วก็เจิร์คซ้ำอีก แบบนี้ก็ใช้ตกกะพงตามบ่อก็เคยใช้ได้ผลดีมากมาแล้ว
(โปรดติดตามในตอนต่อไป)

วันพุธที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2554

เอาเรื่องศาสตร์ของมิโนมาเล่าสู่กันฟังบ้าง (1)

       หยื่อปลอมตระกูลหนึ่งที่มักถูกหยิบใช้เมื่อถึงคราวที่อยากได้ปลาอย่างมากๆสำหรับผมก็คือ เหยื่อตระกูลมิโน (Minnow-bait) ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะว่า เหยื่อนี้มีลักษณะพิเศษเฉพาะอยู่ 3 อย่าง ก็คือ 1. เป็นเหยื่อที่รูปร่างลักษณะเหมือนกับเหยื่อที่มีในธรรมชาติมาก ลักษณะทั่วไปของเหยื่อมิโน จะมีรูปทรงเพรียวยาวคล้ายกับปลาเหยื่อที่ปลาล่าเหยื่อในเกือบทุกพื้นที่มักใช้เป็นอาหารอยู่แล้ว 2. มันเป็นเหยื่อที่มีวิธีใช้ที่หลากหลายกว้างขวาง คือจะแค่กรอเฉยๆก็เกิดแอ็คฌั่น หรือแม้แต่จะใส่เทคนิคการเจิร์ค, การหยุด ก็ยังเรียกร้องความสนใจจากปลาล่าเหยื่อได้ดี อีกทั้งยังสามารถใช้ได้ในอัตรากรอช่วงกว้าง คือ ได้ตั้งแต่เร็วมาก จนถึงกรอช้าจนเหยื่อหยุด มันจัดเป็นเหยื่อที่ปลาล่าเหยื่อเห็นแล้วจึงกัด แต่ด้วยคลื่นสั่นสะเทือนที่มันสร้างได้ บางครั้งมันก็เป็นเหยื่อที่ถูกกัดเพราะปฏิกิริยาตอบโต้ฉับพลันของปลาล่าเหยื่อเหมือนกัน 3. เมื่อเทียบอัตราเฉลี่ยของขนาดปลาที่เข้ากัด ปลาที่กัดเหยื่อตระกูลมิโนนี้ก็ยังมีขนาดเฉลี่ยใหญ่กว่าปลาที่กัดเหยื่อตระกูลพลาสติกนิ่ม ปลาเล็กมักจะกัดเหยื่อพลาสติกนิ่มอย่างไม่ลังเล ในขณะที่ปลาที่มีขนาดใหญ่มักจะเลือกกัดเหยื่อที่มีลีลาการโยกส่ายที่รุนแรงกว่า ซึ่งเหยื่อมิโนเป็นเหยื่อที่เป็นอย่างนั้น
       และด้วยความที่มิโนเป็นเหยื่อที่มีวิธีการใช้ที่หลากหลาย ในทางเดียวกันนี้เหยื่อมิโนจึงมีความหลากหลายไปด้วย เป็นต้นว่า มีเหยื่อที่ถูกออกแบบใช้งานได้ในช่วงระดับน้ำที่ต่างกัน คือ ดำตื้น กลางน้ำ และดำลึก ซึ่งนักตกปลาสามารถสังเกตได้ว่าเหยื่อมิโนตัวไหนจะทำงานในช่วงน้ำระดับใดได้จากลิ้นของเหยื่อตัวนั้นๆ ถ้าเหยื่อตัวไหนมีลิ้นสั้น เหยื่อตัวนั้นก็จะทำงานในน้ำที่ตื้น และหากเหยื่อตัวไหนมีลิ้นที่ยาวกว่าเหยื่อตัวนั้นก็จะดำลงไปในระดับน้ำที่ลึกกว่า และข้อดีข้อหนึ่งของเหยื่อลิ้นยาวก็คือ เมื่อเหยื่อดำลงไปกระทบกับหินใต้น้ำ โดยมากเหยื่อจะพลิกตัวหนีหินนั้นก่อน ถือเป็นการป้องกันการติดสวะได้ระดับหนึ่ง
       นอกจากนี้เหยื่อมิโนยังถูกออกแบบโดยเน้นที่ความถ่วงจำเพาะของเหยื่อเอาไว้ด้วย กล่าวคือเหยื่อมิโนนี้จะถูกออกแบบความลอย-จมไว้ถึง 3 อย่าง คือ แบบลอย(Floating type), แบบไม่ลอยไม่จม(Suspending type), แบบจม(Sinking type) ซึ่งนักตกปลาสามารถรู้ได้ว่าเหยื่อตัวไหนมีความลอย-จมอย่างไรได้จากเอกสารกำกับเหยื่อ หรือจากการทดสอบโดยการกรอเหยื่อเข้าระดับหนึ่งแล้วหยุดเหยื่อไว้เฉยๆ แล้วสังเกตการลอย-จมของเหยื่อนั้น ข้อดีของเหยื่อแบบลอยคือ เมื่อเหยื่อปะทะกับอุปสรรคเราเพียงหยุดกรอ เหยื่อก็จะลอยขึ้นหลีกอุปสรรคนั้น แต่ในแบบเหยื่อจม เราสามารถเช็คระดับหน้าดินได้ว่ามีความลึกระดับใด และเราสามารถส่งเหยื่อลงไปได้ถึงระดับหน้าดินได้ ส่วนเหยื่อแบบไม่ลอยไม่จมนั้น เราสามารถหยุดเหยื่อไว้ในระดับที่เรากรอเรียกความสนใจ มีลักษณะเลียนแบบเหยื่อธรรมชาติได้
       และด้วยความหลากหลายเหล่านี้ มันทำให้เหยื่อมิโนสามารถใช้งานได้ในพื้นที่เกือบทุกลักษณะ ไม่ว่าจะเป็นบ่อตกปลา, เขื่อน, หรือแม้แต่แม่น้ำที่มีกระแสน้ำไหล ส่วนในเรื่องของทัศนะวิสัยของน้ำไม่ว่าจะน้ำใสหรือน้ำขุ่น เหยื่อมิโนก็ยังสามารถเรียกร้องความสนใจจากปลาล่าเหยื่อได้ดีทั้งสิ้น
       แต่ถ้าหากเราคิดจากมุมของธรรมชาติของปลาเหยื่อ เหยื่อมิโนเลียนสภาพของปลาเหยื่อได้เหมือนมากในสภาพน้ำใส คือใช้เหยื่อแบบไม่ลอยไม่จม กรอมาเรื่อยๆแล้วก็หยุด สภาพนี้จะเลียนลักษณะทางธรรมชาติของปลาซิวได้ดี ปลาล่าเหยื่ออาจสนใจตั้งแต่ตอนที่เหยื่อเคลื่อนที่แล้วตามมากัดเมื่อเหยื่อหยุดก็ได้
       สำหรับเหยื่อมิโนลอย พื้นที่หนึ่งที่ผมมักจะเลือกใช้ก็คือ หมายที่เป็นตอไม้แนวตั้ง หรือเป็นหมายแนวสาหร่ายใต้น้ำ หมายแบบนี้ผมจะกรอเหยื่อเข้าไปเฉียดใกล้กับแนวตอไม้ แล้วปล่อยเหยื่อให้ลอยขึ้นก่อนที่จะเจิร์คเหยื่ออีกสักครั้ง แล้วค่อยกรอต่อ เช่นเดียวกันกับหมายที่เป็นแนวสาหร่าย ผมมักจะตีเหยื่อเฉียดนอกแนวสาหร่าย แล้วหากเจอช่วงที่เป็นสาหร่ายโปร่งผมจะปล่อยเหยื่อลอยขึ้น ปลาล่าเหยื่ออย่างปลากระสูบมักจะเข้าฉวยจังหวะที่เหยื่อลอยขึ้นระดับจะพ้นแนวสาหร่าย
       ส่วนในพื้นที่น้ำขุ่น สีและแรงสั่นสะเทือนจะช่วยเรียกร้องความสนใจจากปลาล่าเหยื่อ การหยุดเหยื่อจะทำให้ปลาล่าเหยื่อสามารถระบุตำแหน่งของตัวเหยื่อได้แม่ยำมากขึ้น
(โปรดติดตามในตอนต่อไป)

วันศุกร์ที่ 26 สิงหาคม พ.ศ. 2554

เคล็ด(ไม่)ลับ ของศาสตร์แห่งสปูน (3)


       ในตอนนี้ เรามาว่ากันด้วยเรื่องของลีลาทั้ง 4 ของสปูนกันเสียหน่อย อย่างที่ได้เกริ่นไว้แล้วว่า สปูนที่ถูกดีไซน์ออกมา โดยมากก็จะให้ลีลาอยู่ 4 แบบ คือ 1. ลีลากวัดไกว 2. ลีลาควงรอบตัว 3. ลีลาผสมผสานกวัดไกว+ควงรอบตัว และ 4. ลีลาลบิดตัวเป็นเลข 8 (อารบิค) ทีนี้เราจะดูอย่างไรว่าสปูนทรงไหนจะให้ลีลาอะไร
       1. ลีลากวัดไกว ลักษณะทั่วไปของสปูนที่ให้ลีลาแบบนี้ โดยมากจะมีลักษณะเป็นทรงหยดน้ำ เพียงแต่จุดลึกสุดของท้องค่อนจะชิดไปทางขอบล่าง จุดหักของลิ้นหน้าจะลึกลงมาจากหูบนเล็กน้อย สปูนลักษณะนี้ จะสร้างคลื่นน้ำความถี่ต่ำแต่มีพลังงานมากเรียกร้องความสนใจจากปลาได้ในบริเวณกว้าง เพียงแต่เมื่อใช้ต่อเนื่องไประยะหนึ่ง ปลาจะเกิดความระแวงเหยื่อ

       2. ลีลาควงรอบตัว ลักษณะทั่วไปของสปูนที่ให้ลีลาแบบนี้ โดยมากจะมีลักษณะสอบเรียวยาว ท้องตื้น ขอบข้างไม่สูงมาก ด้วยลักษณะรูปแบบนี้ สปูนจะไม่สร้างคลื่นน้ำที่แรงมากนัก เพียงแต่การควงตัวของสปูน จะเกิดเป็นแสงสะท้อนว๊อบแว้บ เป็นจุดเรียกร้องความสนใจจากปลา สปูนแบบนี้โดยมากผมจะใช้ในแหล่งน้ำไหลที่ไม่ลึกมาก เพราะมันเบามือกว่าแบบอื่นๆ

       3. ลีลาผสมผสานกวัดไกว+ควงรอบตัว ลักษณะทั่วไปของสปูนที่ให้ลีลาแบบนี้ เป็นเหมือนกับสปูนของ BFG คือ มีลักษณะรูปแบบทรงหยดน้ำ (พิมพ์นิยม) ส่วนท้องเคลื่อนมาใกล้ทางตอนกลางของตัวเหยื่อ สปูนลักษณะนี้เมื่อกรอช้าจะให้ลีลากวัดไกว แต่พอกรอเร็วขึ้นก็จะเปลี่ยนไปเป็นลีลาแบบควงรอบตัว โดยส่วนตัวผม ในการตกแบบทิ้งดิ่ง ผมจะใช้อัตรากรอความเร็วสูงก่อนในช่วงแรกที่ดึงเหยื่อขึ้นจากท้องน้ำเพื่อให้เกิดคลื่นเสียงเร้าความสนใจปลาก่อน แล้วเมื่อขึ้นมาสักระยะหนึ่งก็จะลดความเร็วการกรอลงให้เหยื่อมาแบบกวัดไกวบ้าง เพื่อให้ปลารับรู้ตำแหน่งของตัวเหยื่อที่ชัดเจน

       4. ลีลาบิดตัวเป็นเลข 8 (อารบิค) ลักษณะทั่วไปของสปูนที่ให้ลีลาแบบนี้ โดยมากจะมีลักษณะด้านบนค่อนข้างกว้าง เพื่อที่จะกินน้ำได้มาก โค้งส่วนท้องกับโค้งส่วนลิ้นจะรับความโค้งต่อเนื่องกันมา เป็นสปูนที่ต้องการการออกแบบที่ดี เพราะหากออกแบบไม่บาลานซ์จะไม่เกิดแอ็คฌั่นที่ดึงดูดปลาเลย สปูนแบบนี้จะขึ้นน้ำได้ค่อนข้างเร็ว เหมาะกับการลากในน้ำตื้น เช่นแนวสาหร่าย เป็นต้น

       ครั้งต่อไปที่ซื้อสปูน ลองสังเกตดูกายภาพของสปูน แล้วจินตนาการดูว่าสปูนจะทำงานในลักษณะใด แล้วทดสอบดูว่าเป็นเหมือนที่คิดไว้หรือไม่

ฃอให้สนุกกับการใช้สปูน