วันพฤหัสบดีที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2554

เอาเรื่องศาสตร์ของมิโนมาเล่าสู่กันฟังบ้าง (3)


       นตอนท้ายสุดนี้ ก็ฃอหยิบยกเอาเรื่องการtuning เหยื่อมิโนมาสำหรับนักตกปลาที่ต้องการจะปรับแต่งเหยื่อให้เป็นเหยื่อเฉพาะตัวก็แล้วกัน
       การปรับแต่งเหยื่อมิโนนี้ในเบื้องแรก เอาอย่างง่ายที่สุดกันก่อน ก็คือการปรับระดับความถ่วงจำเพาะของตัวเหยื่อ ที่เป็นที่นิยมของนักตกปลาชาวญี่ปุ่นเลยก็คือการแปะแผ่นตะกั่วเพิ่มน้ำหนัก เพื่อปรับจากเหยื่อลอยให้เป็นเหยื่อแบบไม่ลอยไม่จม สิ่งที่สำคัญก็คือ การแปะตะกั่วนี้ต้องคำนึงถึงความบาลานซ์ของเหยื่อด้วย โดยมากการแปะตะกั่วจะแปะกัน 2 จุด คือ ที่ใต้ท้องเหยื่อหลังเบ็ดตัวท้อง 1 จุด และก็ที่หลังลิ้นอีก 1 จุด ที่ติดอย่างนี้ก็เพื่อต้องการให้เหยื่อแขวนลอยในลักษณะขนานเลียนแบบปลาเหยื่อในธรรมชาตินั่นเอง แต่สำหรับนักตกปลาที่ไม่ชอบความยุ่งยากในเรื่องการไปหาตะกั่วแผ่น การเปลี่ยนตัวเบ็ดที่หนาขึ้นและหนักขึ้นก็สามารถปรับความถ่วงจำเพาะของเหยื่อมิโนได้เช่นกัน
ภาพจาก www.bassdozerstore.com
       การปรับแต่งอีกแบบที่เป็นระดับแอดวานซ์ขึ้นไปอีกก็คือการปรับแต่งลิ้นของเหยื่อ การปรับแต่งลักษณะนี้โดยมากเป็นไปอย่างปรับแล้วปรับเลย คือจะทำให้เหยื่อตัวนั้นก็คืนสภาพเก่าอีกได้ยาก วิธีการที่เห็นก็มีตั้งแต่ตะไบลิ้นทิ้งไป กรอลิ้นในสั้นลง ทั้งหลายทั้งปวงนี้ก็ขึ้นอยู่กับความต้องการของนักตกปลาคนนั้นๆ แต่โดยส่วนตัวผมแล้ว ผมจะแต่งลิ้นเหยื่อก็ต่อเมื่อเหยื่อนั้นได้รับความเสียหายมาก่อน เช่นอาจจะเกิดอุบัติเหตุลิ้นหัก การกรอลิ้นก็อาจจะทำให้เหยื่อตัวนั้นสามารถนำกลับมาใช้อีกได้
       มี 4 ข้อใหญ่ที่จะทำให้นักตกปลาสามารถใช้เหยื่อมิโนได้อย่างเชี่ยวชาญก็คือ
       ต้องหมั่นตี หรือใช้เหยื่อมิโนให้บ่อย เพราะการใช้บ่อยนี้จะทำให้เราได้รู้จักแอ็คฌั่นของเหยื่อ การควบคุมความเร็วการกรอ การกะระยะเผื่อหากตกในที่มีกระแสน้ำ หรือได้เรียนรู้สัมผัสที่เกิดขึ้นกับเหยื่อส่งผ่านสายขึ้นมาถึงตัวนักตกปลา สิ่งเหล่านี้จะเรียนรู้ได้ก็ต่อเมื่อนักตกปลาได้ใช้เหยื่อนั้นจนเกิดความคุ้นชิน จึงจะสามารถควบคุมเหยื่อให้เรียร้องความสนใจจากปลาล่าเหยื่อได้เต็มสมรรถภาพของตัวเหยื่อ
       สังเกตการทำงานของตัวเหยื่อ ข้อนี้สืบเนื่องมาจากข้อที่แล้ว คือนอกจากหมั่นใช้หมั่นตีแล้ว นักตกปลาต้องหมั่นสังเกตด้วยว่า เมื่อเราใช้เหยื่อตัวนี้กับปัจจัยแวดล้อมต่างๆ เช่น ชุดอุปกรณ์ไหน ขนาดสายเท่าไหร่ สภาพน้ำแบบไหน (น้ำนิ่ง-น้ำไหล, น้ำใส-น้ำขุ่น) แล้ว เหยื่อที่ใช้นั้นเกิดแอ็คฌั่นอะไร เรียกร้องความสนใจจากปลาล่าเหยื่อได้ดีแค่ไหน ยิ่งโดยเฉพาะเมื่อใช้ในหมายที่มีสภาพน้ำใสแล้ว สิ่งที่อยากให้สังเกตมากที่สุดก็คือ ปลาฉวยเหยื่อด้วยแอ็คฌั่นอย่างไร กัดตอนหยุด หรือว่ากัดตอนกรอ กัดตอนเหยื่อกำลังลอยขึ้น หรือกัดตอนเหยื่อกำลังจม สิ่งเหล่านี้หากนักตกปลาได้สังเกตและรวบรวมไว้เป็นข้อมูลพื้นฐาน แล้วนำมาประมวลเพื่อเป็นตัวช่วยในการตัดสินใจเลือกเหยื่อในครั้งต่อไป
       ฝึกฝนการใช้เทคนิคกับเหยื่อ ดังที่กล่าวพูดถึงมาแล้วในเบื้องต้น เทคนิคต่างๆเหล่านี้นักตกปลาควรเรียนรู้จะจดจำไว้ ปลาก็เหมือนกับสิ่งมีชีวิตทั่วไป มีความอยากรู้อยากเห็น และความสามารถในการจดจำ เทคนิคเดิมๆบางครั้งก็ไม่สามารถเร้าให้ปลาล่าเหยื่อเกิดความสนใจในตัวเหยื่อได้เหมือนกัน ดังนั้นการสร้างแอ็คฌั่นที่แตกต่างก็ควรจะฝึกฝนใช้บ้าง เทคนิคหนึ่งที่นึกขึ้นได้ว่ายังไม่ได้พูดถึงในตอนนี้เลยก็คือการหย่อนสาย ด้วยเทคนิคนี้เหยื่อจะเกิดการเคลื่อนไหวที่แตกต่างออกไปอีกแบบหนึ่ง ในเหยื่อที่มีลิ้นเมื่อกรอๆแล้วเราลดคันลงหย่อนสายให้เล็กน้อย เหยื่อจะเกิดการถอยตัวเล็กน้อย ถ้าเป็นเหยื่อแบบไม่ลอยไม่จม เหยื่อจะชะงักกึ๊ก ปลาล่าเหยื่ออาจจะฉวยเหยื่อในจังหวะนี้ก็เป็นไปได้ แต่มีข้อควรระวังอยู่อย่างสำหรับเทคนิคนี้ก็คือ หากหย่อนสายเร็วเกินไป สายอาจจะขึ้นไปพันกับทิปทอป แล้วเมื่อปลาฉวยคันก็อาจจะหักได้เช่นกัน
       สุดท้ายเลยที่จะฝากไว้สำหรับศาสตร์ของการใช้เหยื่อมิโนนี้ก็คือ การกรอสายให้ช้าครับ การกรอเร็วนั้นเหยื่อจะเกิดคลื่นเสียง แต่การกรอช้าจะทำให้ปลาล่าเหยื่อระบุตำแหน่งของเหยื่อได้ มีหลายหนเหมือนกันที่การกรอแล้วหยุดไม่ได้ผล หรือการทวิตช์แอนด์เจิร์คก็บอดสนิท ถึงตอนนี้แหละ การกรอช้าๆ ช้ามากๆ ก็อาจจะทำให้ปลาไม่ลังเลที่จะเข้ากัดก็เป็นได้ ทดลองดูนะครับ

ฃอให้สนุกกับการใช้เหยื่อมิโนครับ

เอาเรื่องศาสตร์ของมิโนมาเล่าสู่กันฟังบ้าง (2)

       ในบทนี้มาว่ากันด้วยเรื่องของอุปกรณ์ที่เหมาะกับการใช้เหยื่อมิโนกันหน่อย อันที่จริงด้วยความหลากหลายของเหยื่อมิโนนี้ทำให้ ช่วงของขนาดอุปกรณ์มีความกว้างขึ้นตามไปด้วย ที่สำคัญควรเลือกคันให้เหมาะสมกับน้ำหนักของเหยื่อมิโนที่จะนำมาใช้ เน้นคันที่มีแอ็คฌั่นฟาสท์ และที่สำคัญกว่าสิ่งอื่นใดเลยคือควรเป็นชุดอุปกรณ์ที่รวมๆแล้วมีน้ำหนักเบา สบายมือสบายแขน ไม่ทำให้ล้าเพราะเกมเหยื่อปลอมเป็นเกมที่ต้องส่งเหยื่อตีสายกันทั้งวัน คันเบ็ดที่อ่อนไม่ใช่ว่าจะนำมาใช้กับเหยื่อมิโนไม่ได้ เพียงแต่เมื่อเราจะใส่เทคนิคลงไป เช่นการเจิร์คเหยื่อ การจูงเหยื่อ การสนองต่อเทคนิคเหล่านี้ คันที่อ่อนมักจะหน่วงการออกเทคนิคเหล่านี้


       สายเบ็ดที่แนะนำให้ใช้ สำหรับเหยื่อมิโนประเภทไม่ลอยไม่จม สายเบ็ดที่เหมาะสมต่อการใช้ที่สุดน่าจะเป็นสายพวกฟลูโอโรฯ เพราะสายเบ็ดนี้ ไม่ฉุดให้เหยื่อลอยหรือจมลงไปเท่าไหร่ ทำให้เราสามารถควบคุมเหยื่ออยู่ในระดับที่เราคาดหวังได้ดี แต่ถ้าใช้งานกว้างๆ สายไนล่อน หรือสายเชือกพวก PEก็พอใช้ได้อยู่เหมือนกัน



       เงื่อนที่จะใช้ผูกเหยื่อก็มีความสำคัญเหมือนกัน หากเป็นการผูกตรงโดยไม่ได้ใช้กิ๊บ เงื่อนที่มีอิสระอย่างกับเงื่อนราพาล่า จะให้ตัวเหยื่อเกิดแอ็คฌั่นที่รุนแรงกว่า แต่ถ้าเป็นเหยื่อที่มีสปริทริงใส่มาที่ห่วงลากเหยื่ออยู่แล้ว จะใช้เงื่อนยูนิน็อทก็สะดวกต่อการผูกดี



       วิธีการกรอเหยื่อมิโนนั้น นอกจากการกรอเข้ามาเฉยๆแล้ว เทคนิคSTOP & GO ก็เป็นเทคนิคที่น่าใช้ ในพื้นที่มีสภาพน้ำใส วิธีที่ผมชอบก็คือ TWITCH & JERK คือการกรอเร็วๆพร้อมกับลากปลายคันแล้วหยุดเหยื่อก่อนที่จะกระตุกข้อมือให้สะเทือนถึงปลายคัน(เจิร์ค)สัก 1-2 หน เป็นจังหวะๆแบบนี้ นอกจากนี้สำหรับพวกมิโนแบบจม บางครั้งก็จะปล่อยเหยื่อให้จมถึงพื้นแล้วก็เจิร์คสัก 1-2 หนก่อนจะกรอช้าๆสักหน่อย แล้วก็เจิร์คซ้ำอีก แบบนี้ก็ใช้ตกกะพงตามบ่อก็เคยใช้ได้ผลดีมากมาแล้ว
(โปรดติดตามในตอนต่อไป)