หลังจากที่เรียนรู้มาจนพร้อมจะออกภาคสนามแล้ว อีกเรื่องที่ควรรู้ไว้เป็นอย่างยิ่งก็คือ ขั้นตอนการสู้ปลาครับ จริงๆมันเป็นเรื่องที่ดูเหมือนไม่ยากสำหรับผู้ที่ชำนาญแล้ว แต่สำหรับมือใหม่ก็ดูเป็นเรื่องที่โกลาหลอยู่พอสมควรทีเดียว ไหนจะตื่นเต้นจากปลากินเบ็ด อีกทั้งยังกลัวปลาหลุดปลาขาดอีก เคยเห็นที่บ่อตกปลาหลายครั้งอยู่เหมือนกัน ที่พอปลากินเบ็ดแล้วก็ได้แต่ร้อง “ว๊ายๆ” อย่างเดียว ไม่หมุนรอก ไม่ตั้งคัน เก้ๆกังๆอยู่ตรงขอบบ่อ จนปลาหลุดไปก็มีอยู่บ่อยๆ
ดังนั้น ครั้งนี้ก็อยากจะลำดับขั้นตอนการสู้ปลาให้ได้รู้กันว่ามันจะเกิดอะไรขึ้นบ้างหลังจากที่ปลาเข้าสไตรค์เหยื่อ เป็นอีกครั้งที่ต้องขอบคุณกูเกิ้ลที่ช่วยหาภาพประกอบให้เข้าใจได้ง่ายขึ้น
จำไว้ว่าต้องเตรียมตัวเตรียมใจเสมอทุกครั้งที่เหวี่ยงเหยื่อออกไปว่าจะมีโอกาสที่ปลาเข้าสไตรค์เหยื่อ โดยเฉพาะพวกเหยื่อผิวน้ำที่บางทีกรอเพลินๆ ถูกปลาเข้าซัดตูมทำให้ตกใจจนหัวใจเกือบวายก็มี เมื่อปลาเข้าสไตรค์เหยื่อ แรงกระชากจะส่งผ่านสายถึงปลายคันรับรู้ได้
หากเป็นเหยื่อที่มีเบ็ดห้อยอย่างอิสระให้ลดคันลงนิดนึงก่อนจะตวัดย้ำเบ็ด ทำแบบนี้จะสร้างแรงตวัดคมเบ็ดให้ทะลุทะลวงได้ดีขึ้น แต่กับเหยื่อบางอย่าง เช่น เหยื่อยางที่มีการซ่อนปลายคมเบ็ด ต้องส่งสายให้ปลาขย้อนเหยื่อก่อน ก็ตามแต่สูตรใฅรสูตรฅนนั้น โดยส่วนตัวผมจะให้ระยะหนึ่งพอสายตึงก็ตวัดสวนให้เต็มแรง
การตวัดเบ็ดอาจทำมากกว่าหนึ่งครั้ง แต่ไม่ควรย้ำเบ็ดบ่อย เพราะแผลจะฉีกกว้างเป็นสาเหตุให้เบ็ดหลุดได้ ต่อจากนั้นก็จะเข้าสู่ขั้นตอนการสู้ปลา การสู้ปลานี้ก็ไม่ใช่ตะบี้ตะบันกรอรอกอย่างเดียว จุดสำคัญคือให้ดูกำลังปลาเป็นหลัก ถ้ามั่นใจว่าเซ็ทน้ำหนักเบรกไว้ดีแล้วก็ไม่ควรจะปรับน้ำหนักเบรกเพิ่มเติม ปลาส่วนใหญ่จะมีแรงมากในจังหวะแรกของการสู้เบ็ด จำไว้หลักสำคัญการสู้ปลามีอยู่ว่า “ถ้าปลาวิ่ง ปล่อยให้ปลาสู้กับเบรกของรอกและแรงต้านที่เกิดจากคัน พอเมื่อปลาหยุดให้แรงดีดของคันทำงาน เราเพียงแต่รักษาความตึงของสายเบ็ดไว้โดยการกรอสายเก็บให้ทัน”
หรือจะให้เข้าใจง่ายกว่านั้นก็คือ “เมื่อปลาวิ่งให้ตั้งคันไว้ พอปลาอ่อนแรงให้ลดคันลงแล้วกรอสายเก็บ”
เมื่อเก็บสายเข้ามาใกล้จนได้ระยะจบเกมส์แล้ว จังหวะนี้ต้องสังเกตให้ดีว่าปลานั้นหมดแรงจริงหรือไม่ ถ้าหากตั้งใจจะปล่อยปลาตัวนั้นก็ควรจะรีบจบเกมส์ เพื่อจะได้รีบปลดเบ็ดและรีบปล่อยไป ส่วนจะช้อนเองแบบในภาพ หรือจะให้ฅนอื่นช่วยช้อนก็ได้ ที่สำคัญ ฅนช้อนปลาต้องเข้าใจวิธีช้อนให้ดี
หลักการช้อนปลาคือควรจะช้อนจากทางหัวปลา ไม่ใช่ใช้สวิงไปไล่ควานหาปลา หย่อนสวิงลงในน้ำ จูงปลาเข้าหาสวิง หากปลายังดิ้นโครมคราม หรือว่ายังมีแรงอยู่ไม่ควรรีบช้อน ควรให้ปลาหมดแรงเหมือนกับภาพด้านล่างนี้ จะเห็นได้ว่าปลาหงายท้องแล้ว ให้ลากหรือจูงปลาเข้าถุงสวิง เมื่อหัวปลาเข้าถุงสวิงจนเลยครีบหูหรือครีบอกไปแล้ว ก็ให้ช้อนขอบสวิงขึ้นพ้นน้ำ ฅนถือคันควรหย่อนสายลง ให้ปลาเข้าถุงสวิงให้ดีก่อน แล้วยกสวิงขึ้น วิธีการยกก็ควรให้ด้ามสวิงทำแนวตั้งกับพื้นน้ำ เพราะหากยกในลักษณะงัดด้ามสวิงอาจจะหักได้
ทั้งหมดนี้ก็เป็นวิธีการสู้ปลาตั้งแต่ปลาสไตรค์จนถึงช้อนปลาขึ้นจากน้ำ จำไว้ว่าหากจะปล่อยปลาที่ได้ ไม่ควรขังปลาไว้ดูเล่นก่อน เพราะปลาจะเครียดจัดจนตายไป รีบปลด รีบถ่ายรูป(ถ้าจะทำ) แล้วก็รีบปล่อยปลาไป
ฃอให้สนุกกับการตกปลา
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น