วันพุธที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2554

เอาเรื่องศาสตร์ของมิโนมาเล่าสู่กันฟังบ้าง (1)

       หยื่อปลอมตระกูลหนึ่งที่มักถูกหยิบใช้เมื่อถึงคราวที่อยากได้ปลาอย่างมากๆสำหรับผมก็คือ เหยื่อตระกูลมิโน (Minnow-bait) ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะว่า เหยื่อนี้มีลักษณะพิเศษเฉพาะอยู่ 3 อย่าง ก็คือ 1. เป็นเหยื่อที่รูปร่างลักษณะเหมือนกับเหยื่อที่มีในธรรมชาติมาก ลักษณะทั่วไปของเหยื่อมิโน จะมีรูปทรงเพรียวยาวคล้ายกับปลาเหยื่อที่ปลาล่าเหยื่อในเกือบทุกพื้นที่มักใช้เป็นอาหารอยู่แล้ว 2. มันเป็นเหยื่อที่มีวิธีใช้ที่หลากหลายกว้างขวาง คือจะแค่กรอเฉยๆก็เกิดแอ็คฌั่น หรือแม้แต่จะใส่เทคนิคการเจิร์ค, การหยุด ก็ยังเรียกร้องความสนใจจากปลาล่าเหยื่อได้ดี อีกทั้งยังสามารถใช้ได้ในอัตรากรอช่วงกว้าง คือ ได้ตั้งแต่เร็วมาก จนถึงกรอช้าจนเหยื่อหยุด มันจัดเป็นเหยื่อที่ปลาล่าเหยื่อเห็นแล้วจึงกัด แต่ด้วยคลื่นสั่นสะเทือนที่มันสร้างได้ บางครั้งมันก็เป็นเหยื่อที่ถูกกัดเพราะปฏิกิริยาตอบโต้ฉับพลันของปลาล่าเหยื่อเหมือนกัน 3. เมื่อเทียบอัตราเฉลี่ยของขนาดปลาที่เข้ากัด ปลาที่กัดเหยื่อตระกูลมิโนนี้ก็ยังมีขนาดเฉลี่ยใหญ่กว่าปลาที่กัดเหยื่อตระกูลพลาสติกนิ่ม ปลาเล็กมักจะกัดเหยื่อพลาสติกนิ่มอย่างไม่ลังเล ในขณะที่ปลาที่มีขนาดใหญ่มักจะเลือกกัดเหยื่อที่มีลีลาการโยกส่ายที่รุนแรงกว่า ซึ่งเหยื่อมิโนเป็นเหยื่อที่เป็นอย่างนั้น
       และด้วยความที่มิโนเป็นเหยื่อที่มีวิธีการใช้ที่หลากหลาย ในทางเดียวกันนี้เหยื่อมิโนจึงมีความหลากหลายไปด้วย เป็นต้นว่า มีเหยื่อที่ถูกออกแบบใช้งานได้ในช่วงระดับน้ำที่ต่างกัน คือ ดำตื้น กลางน้ำ และดำลึก ซึ่งนักตกปลาสามารถสังเกตได้ว่าเหยื่อมิโนตัวไหนจะทำงานในช่วงน้ำระดับใดได้จากลิ้นของเหยื่อตัวนั้นๆ ถ้าเหยื่อตัวไหนมีลิ้นสั้น เหยื่อตัวนั้นก็จะทำงานในน้ำที่ตื้น และหากเหยื่อตัวไหนมีลิ้นที่ยาวกว่าเหยื่อตัวนั้นก็จะดำลงไปในระดับน้ำที่ลึกกว่า และข้อดีข้อหนึ่งของเหยื่อลิ้นยาวก็คือ เมื่อเหยื่อดำลงไปกระทบกับหินใต้น้ำ โดยมากเหยื่อจะพลิกตัวหนีหินนั้นก่อน ถือเป็นการป้องกันการติดสวะได้ระดับหนึ่ง
       นอกจากนี้เหยื่อมิโนยังถูกออกแบบโดยเน้นที่ความถ่วงจำเพาะของเหยื่อเอาไว้ด้วย กล่าวคือเหยื่อมิโนนี้จะถูกออกแบบความลอย-จมไว้ถึง 3 อย่าง คือ แบบลอย(Floating type), แบบไม่ลอยไม่จม(Suspending type), แบบจม(Sinking type) ซึ่งนักตกปลาสามารถรู้ได้ว่าเหยื่อตัวไหนมีความลอย-จมอย่างไรได้จากเอกสารกำกับเหยื่อ หรือจากการทดสอบโดยการกรอเหยื่อเข้าระดับหนึ่งแล้วหยุดเหยื่อไว้เฉยๆ แล้วสังเกตการลอย-จมของเหยื่อนั้น ข้อดีของเหยื่อแบบลอยคือ เมื่อเหยื่อปะทะกับอุปสรรคเราเพียงหยุดกรอ เหยื่อก็จะลอยขึ้นหลีกอุปสรรคนั้น แต่ในแบบเหยื่อจม เราสามารถเช็คระดับหน้าดินได้ว่ามีความลึกระดับใด และเราสามารถส่งเหยื่อลงไปได้ถึงระดับหน้าดินได้ ส่วนเหยื่อแบบไม่ลอยไม่จมนั้น เราสามารถหยุดเหยื่อไว้ในระดับที่เรากรอเรียกความสนใจ มีลักษณะเลียนแบบเหยื่อธรรมชาติได้
       และด้วยความหลากหลายเหล่านี้ มันทำให้เหยื่อมิโนสามารถใช้งานได้ในพื้นที่เกือบทุกลักษณะ ไม่ว่าจะเป็นบ่อตกปลา, เขื่อน, หรือแม้แต่แม่น้ำที่มีกระแสน้ำไหล ส่วนในเรื่องของทัศนะวิสัยของน้ำไม่ว่าจะน้ำใสหรือน้ำขุ่น เหยื่อมิโนก็ยังสามารถเรียกร้องความสนใจจากปลาล่าเหยื่อได้ดีทั้งสิ้น
       แต่ถ้าหากเราคิดจากมุมของธรรมชาติของปลาเหยื่อ เหยื่อมิโนเลียนสภาพของปลาเหยื่อได้เหมือนมากในสภาพน้ำใส คือใช้เหยื่อแบบไม่ลอยไม่จม กรอมาเรื่อยๆแล้วก็หยุด สภาพนี้จะเลียนลักษณะทางธรรมชาติของปลาซิวได้ดี ปลาล่าเหยื่ออาจสนใจตั้งแต่ตอนที่เหยื่อเคลื่อนที่แล้วตามมากัดเมื่อเหยื่อหยุดก็ได้
       สำหรับเหยื่อมิโนลอย พื้นที่หนึ่งที่ผมมักจะเลือกใช้ก็คือ หมายที่เป็นตอไม้แนวตั้ง หรือเป็นหมายแนวสาหร่ายใต้น้ำ หมายแบบนี้ผมจะกรอเหยื่อเข้าไปเฉียดใกล้กับแนวตอไม้ แล้วปล่อยเหยื่อให้ลอยขึ้นก่อนที่จะเจิร์คเหยื่ออีกสักครั้ง แล้วค่อยกรอต่อ เช่นเดียวกันกับหมายที่เป็นแนวสาหร่าย ผมมักจะตีเหยื่อเฉียดนอกแนวสาหร่าย แล้วหากเจอช่วงที่เป็นสาหร่ายโปร่งผมจะปล่อยเหยื่อลอยขึ้น ปลาล่าเหยื่ออย่างปลากระสูบมักจะเข้าฉวยจังหวะที่เหยื่อลอยขึ้นระดับจะพ้นแนวสาหร่าย
       ส่วนในพื้นที่น้ำขุ่น สีและแรงสั่นสะเทือนจะช่วยเรียกร้องความสนใจจากปลาล่าเหยื่อ การหยุดเหยื่อจะทำให้ปลาล่าเหยื่อสามารถระบุตำแหน่งของตัวเหยื่อได้แม่ยำมากขึ้น
(โปรดติดตามในตอนต่อไป)

วันศุกร์ที่ 26 สิงหาคม พ.ศ. 2554

เคล็ด(ไม่)ลับ ของศาสตร์แห่งสปูน (3)


       ในตอนนี้ เรามาว่ากันด้วยเรื่องของลีลาทั้ง 4 ของสปูนกันเสียหน่อย อย่างที่ได้เกริ่นไว้แล้วว่า สปูนที่ถูกดีไซน์ออกมา โดยมากก็จะให้ลีลาอยู่ 4 แบบ คือ 1. ลีลากวัดไกว 2. ลีลาควงรอบตัว 3. ลีลาผสมผสานกวัดไกว+ควงรอบตัว และ 4. ลีลาลบิดตัวเป็นเลข 8 (อารบิค) ทีนี้เราจะดูอย่างไรว่าสปูนทรงไหนจะให้ลีลาอะไร
       1. ลีลากวัดไกว ลักษณะทั่วไปของสปูนที่ให้ลีลาแบบนี้ โดยมากจะมีลักษณะเป็นทรงหยดน้ำ เพียงแต่จุดลึกสุดของท้องค่อนจะชิดไปทางขอบล่าง จุดหักของลิ้นหน้าจะลึกลงมาจากหูบนเล็กน้อย สปูนลักษณะนี้ จะสร้างคลื่นน้ำความถี่ต่ำแต่มีพลังงานมากเรียกร้องความสนใจจากปลาได้ในบริเวณกว้าง เพียงแต่เมื่อใช้ต่อเนื่องไประยะหนึ่ง ปลาจะเกิดความระแวงเหยื่อ

       2. ลีลาควงรอบตัว ลักษณะทั่วไปของสปูนที่ให้ลีลาแบบนี้ โดยมากจะมีลักษณะสอบเรียวยาว ท้องตื้น ขอบข้างไม่สูงมาก ด้วยลักษณะรูปแบบนี้ สปูนจะไม่สร้างคลื่นน้ำที่แรงมากนัก เพียงแต่การควงตัวของสปูน จะเกิดเป็นแสงสะท้อนว๊อบแว้บ เป็นจุดเรียกร้องความสนใจจากปลา สปูนแบบนี้โดยมากผมจะใช้ในแหล่งน้ำไหลที่ไม่ลึกมาก เพราะมันเบามือกว่าแบบอื่นๆ

       3. ลีลาผสมผสานกวัดไกว+ควงรอบตัว ลักษณะทั่วไปของสปูนที่ให้ลีลาแบบนี้ เป็นเหมือนกับสปูนของ BFG คือ มีลักษณะรูปแบบทรงหยดน้ำ (พิมพ์นิยม) ส่วนท้องเคลื่อนมาใกล้ทางตอนกลางของตัวเหยื่อ สปูนลักษณะนี้เมื่อกรอช้าจะให้ลีลากวัดไกว แต่พอกรอเร็วขึ้นก็จะเปลี่ยนไปเป็นลีลาแบบควงรอบตัว โดยส่วนตัวผม ในการตกแบบทิ้งดิ่ง ผมจะใช้อัตรากรอความเร็วสูงก่อนในช่วงแรกที่ดึงเหยื่อขึ้นจากท้องน้ำเพื่อให้เกิดคลื่นเสียงเร้าความสนใจปลาก่อน แล้วเมื่อขึ้นมาสักระยะหนึ่งก็จะลดความเร็วการกรอลงให้เหยื่อมาแบบกวัดไกวบ้าง เพื่อให้ปลารับรู้ตำแหน่งของตัวเหยื่อที่ชัดเจน

       4. ลีลาบิดตัวเป็นเลข 8 (อารบิค) ลักษณะทั่วไปของสปูนที่ให้ลีลาแบบนี้ โดยมากจะมีลักษณะด้านบนค่อนข้างกว้าง เพื่อที่จะกินน้ำได้มาก โค้งส่วนท้องกับโค้งส่วนลิ้นจะรับความโค้งต่อเนื่องกันมา เป็นสปูนที่ต้องการการออกแบบที่ดี เพราะหากออกแบบไม่บาลานซ์จะไม่เกิดแอ็คฌั่นที่ดึงดูดปลาเลย สปูนแบบนี้จะขึ้นน้ำได้ค่อนข้างเร็ว เหมาะกับการลากในน้ำตื้น เช่นแนวสาหร่าย เป็นต้น

       ครั้งต่อไปที่ซื้อสปูน ลองสังเกตดูกายภาพของสปูน แล้วจินตนาการดูว่าสปูนจะทำงานในลักษณะใด แล้วทดสอบดูว่าเป็นเหมือนที่คิดไว้หรือไม่

ฃอให้สนุกกับการใช้สปูน

วันพุธที่ 10 สิงหาคม พ.ศ. 2554

เคล็ด(ไม่)ลับ ของศาสตร์แห่งสปูน (2)


       หลังจากที่เราได้รู้จักกับส่วนประกอบของบอดี้ของสปูนแล้ว ทีนี้ ผมอยากให้นักตกปลาได้เข้าใจถึงพลศาสตร์ของไหลที่เกิดขึ้นกับตัวเหยื่อสปูนเมื่ออยู่ในน้ำ
       เมื่อเหยื่อสปูนที่เราเหวี่ยงไปนั้นตกลงที่ผิวน้ำแล้ว เหยื่อสปูนจะพลิกเอาด้านหน้าเหยื่อลงโดยที่ท้องจะปะทะกับท้องด้านโค้ง ดันเหยื่อให้แกว่งน้อยๆแล้วก็ดิ่งลงไปตามแรงดึงดูดโลก ที่จังหวะนี้ หากเหยื่อสปูนตัวนั้นมีหาง แบบสปูน BFG แผ่นหางจะถูกแรงต้านน้ำที่ปะทะพาเอาตัวเบ็ด3 ทางนั้นพับแนบเก็บเข้ามาที่ท้องเหยื่อด้านเว้าด้วย ดังนั้นผู้ที่ใช้สปูนกับการตกแบบทิ้งดิ่งบ่อยๆจะเห็นได้ว่า เหยื่อสปูนโดยมากตอนขาลงนั้น เหยื่อจะหลบอุปสรรคได้ค่อนข้างดี แต่เหยื่อที่หลบอุปสรรคอย่างกับกิ่งไม้ได้ ก็มักจะเกี่ยวกับอุปสรรคนั้นในจังหวะที่เรากรอขึ้น
       ต่อไป เมื่อเหยื่อถูกกรอ เริ่มจากความเร็วที่ต่ำๆก่อน น้ำส่วนหนึ่งจะผ่านด้านหลังของหูบน ผ่านลิ้นไปปะทะกับท้องเหยื่อแล้วดันให้เหยื่อสไลด์ออกไปเพราะแรงต้านจนกระทั่งตัวเหยื่อพลิกหลบแรงต้านนั้นได้ แต่ก็จะเกิดแรงต้านใหม่ที่ขอบของท้องอีกด้านหนึ่งดันให้เหยื่อสไลด์ออกไปในทิศทางตรงกันข้าม มันจะสลับกันไปอย่างนี้ตลอดในการกรอที่อัตราเร็วที่สม่ำเสมอ แอ็คฌั่นการทำงานของเหยื่อแบบนี้ภาษาฝรั่งเรียกว่า Wobbling ผมขอเรียกเป็นไทยว่า "กวัดไกว" ก็เลยกัน แต่เมื่อเรากรอในอัตราที่เร็วขึ้น แรงต้านใหม่ที่เกิดขึ้นเมื่อเหยื่อสไลด์หนีแรงต้านเดิม จะไม่ได้เกิดขึ้นที่ท้องเหยื่อ แต่จะปะทะกับด้านหน้าของใบสปูน ทำให้เกิดการหมุนควงเพื่อรักษาให้ตัวเองอยู่ในศูนย์กลางของแรงดึงที่มาจากการกรอ อันนี้ภาษาฝรั่งเรียก Rolling ส่วนผมขอเรียกให้เข้าใจง่ายๆว่า "หมุนควง" นะครับ ทั้งหมดนี้เป็นการทำงานของสปูนเมื่ออยู่ในน้ำ
       แท้จริงแล้ว เป็นที่เข้าใจกันอย่างง่ายๆว่า เหยื่อสปูนจะทำงานอยู่ แบบ คือ 1. แบบกวัดไกวไปมา  2. แบบหมุนควงรอบตัว ซึ่งทั่วไปแล้วก็จะตั้งข้อสังเกตกันเป็นหลักไว้ว่า ถ้าเหยื่อสปูนตัวนั้นมีรูปทรงหยดน้ำ (พิมพ์นิยมก็จะเข้าใจเอาว่า สปูนตัวนั้นจะทำงานแบบกวัดไกวเป็นหลัก และถ้าเป็นเหยื่อสปูนทรงใบหลิว ก็จะทำงานแบบควงรอบตัว อย่างนี้เป็นต้น
       แต่ในความเป็นจริง ในการออกแบบสปูน เมื่อเราปรับตำแหน่งนู้นนิดนี่หน่อย การทำงานของสปูนก็จะมีรูปแบบผสมผสานได้ ซึ่งโดยมากก็จะได้ออกมาเป็น ลีลาก็คือ 1. ลีลากวัดไกว 2.ลีลาควงรอบตัว 3. ลีลากวัดไกวผสมกับควงตัว และ 4. ลีลาที่มาเหมือนเลข 8 (อารบิค)
       ลีลาทั้ง นี้เกิดขึ้นได้อย่างไร ผมอยากให้ทำความเข้าใจอย่างนี้ครับ เป็นต้นว่า สปูนทรงหยดน้ำ (พิมพ์นิยมนี้ ถ้าเราขยับให้ท้องเหยื่ออยู่สูงขึ้นไปทางหูบน สิ่งที่เกิดขึ้นคือ เหยื่อตัวนี้จะกลายเป็นเหยื่อที่หมุนควงได้ในอัตรากรอที่ความเร็วต่ำกว่าแบบที่ท้องเหยื่ออยู่ค่อนไปทางหูล่าง ซึ่งจะคงลีลาการกวัดไกวไว้ได้แม้จะกรอในอัตราความเร็วเท่ากัน
       ในตอนต่อไปเรามาดูกันว่า เหยื่อสปูนทรงไหน จะเกิดลีลาอะไร....

วันจันทร์ที่ 8 สิงหาคม พ.ศ. 2554

เคล็ด(ไม่)ลับ ของศาสตร์แห่งสปูน (1)

       สปูน เป็นเหยื่อปลอมที่มีมาแต่สมัยโบราณ ตามหลักฐานเก่าแก่ต่างๆที่เกี่ยวข้องกับการตกปลาก็พบว่า เหยื่อปลอมลักษณะคล้ายสปูนนี้มีอยู่ในหลายๆจุดทั่วโลก ไม่ว่าเรื่องเล่าของพวกอะบอริจิน ภาพเขียนเรื่องการประมงในแม่น้ำไนล์ หรือแม้แต่บ้านเรา ก็ยังมีศัพท์โบราณเรียกเหยื่อแบบนี้ว่า กระจาน จนกลายเป็นที่มาของชื่อเขื่อนและแหล่งตกปลาที่โด่งดังในปัจจุบัน แก่งกระจาน
       น้ำหนักและรูปทรงของสปูนนี้มีความหลากหลายมาก ตัวผมเองมีสปูนที่เบาที่สุด คือมีน้ำหนักเพียง 1 กรัม แล้วก็มีตัวที่หนักที่สุดคือหนักกว่า 1 ขีด ส่วนรูปทรงของสปูนก็มีทั้งแบบทรงหยดน้ำ (พิมพ์นิยม) และแบบทรงใบหลิว ซึ่งแต่ละแบบก็ยังมีรายละเอียดแตกต่างกันออกไปอีกในแต่ละยี่ห้อ แล้วนักตกปลาเคยรู้สึกแปลกใจไหมว่า แค่ไอ้แผ่นโลหะงอๆแบบนี้ ทำไมแต่ละแบบจึงใช้งานแตกต่างกันมากขนาดนั้น วันนี้ผมจะมาเปิดเผยศาสตร์ของสปูนกันอย่างหมดเปลือก ให้ถึงขนาดที่ว่า เพียงคุณได้สัมผัสตัวสปูน ก็สามารถเดาแอ็คฌั่นของสปูนตัวนั้นได้อย่างใกล้เคียงความจริง
       เพื่อให้เราได้เข้าใจศาสตร์การทำงานของสปูนได้ง่ายขึ้น ก่อนอื่นผมอยากให้เราได้รู้จักส่วนต่างๆของบอดี้ของสปูนกัน แผ่นโลหะที่เป็นบอดี้ของสปูนนั้นประกอบด้วย ลิ้น, ขอบ, ท้อง, หน้า, และสุดท้ายก็ หู ตำแหน่งต่างๆของส่วนประกอบเหล่านี้ จะเป็นตัวบ่งชี้ว่าสปูนตัวนั้นๆจะมีแอ็คฌั่นแบบใด
       อารัมภบทเท่านี้ก่อน แล้วตอนต่อไปมาดูกันเรื่องของการทำงานของสปูนเมื่ออยู่ใต้ผิวน้ำ

วันศุกร์ที่ 5 สิงหาคม พ.ศ. 2554

มารู้จักเหยื่อสี Chartreuse (ชาร์ทรูส) ในมุมมองของโปรญี่ปุ่น (2)

       ต่อไปโปรเซกิวะยังให้ความเห็นไว้อีกว่า สีชาร์ทรูสอย่างเดียวนั้นทำหน้าที่เพียงให้ปลาเหยื่อรับรู้ถึงการมีตัวตนของเหยื่อเท่านั้น ถ้าจะให้ได้ผลดีๆจะต้องบวกเหยื่อตัวนั้นควรจะมีสีที่เร้าอารมณ์ให้ปลาล่าเหยื่อรู้สึกอยากกัดด้วย
       เป็นต้นว่า ในน้ำใสควรใช้เหยื่อสีชาร์ทรูสตัวที่บวกกับสีธรรมชาติ และในน้ำขุ่นควรใช้เหยื่อสีชาร์ทรูสตัวที่บวกกับสีสรรที่สว่างๆ สำหรับโปรเซกิวะเอง ได้จัดลำดับเหยื่อสีชาร์ทรูสที่บวกกับสีต่างๆไว้ เหยื่อแถวบนของภาพเป็นลำดับของเหยื่อที่เหมาะสมใช้ในสภาพน้ำใส และแถวล่างของแผนภาพเป็นลำดับของเหยื่อที่เหมาะสมใช้ในสภาพน้ำขุ่น โดยไล่ลำดับสีที่เร้าอารมณ์ปลาล่าเหยื่อในระดับธรรมดาจากท้ายลูกศรไปหาสีที่เร้าอารมณ์ปลาล่าเหยื่อในระดับสูงที่หัวลูกศร


       นอกจากสภาพของน้ำจะเป็นตัวชี้ว่าควรจะเลือกใช้เหยื่อสีชาร์ทรูสที่บวกกับสีไหนแล้ว ฤดูกาลก็จะเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่เค้าจะให้ความสำคัญของสีที่มาบวก เช่น ที่ตัวบนสุดของแผนภาพนี้ ก็เป็นเหยื่อไม้ตายของโปรเซกิวะในช่วงฤดูใบไม้ร่วง ส่วนตัวกลางนี้ ก็จะเป็นเหยื่อตัวที่เขาเลือกที่จะใช้ก่อนในช่วงต้นฤดูร้อน และตัวล่างสุด เหยื่อที่มีท้องเป็นสีขาว นี่เป็นตัวที่เค้าจะเลือกใช้ทุกทีที่เจอสภาพน้ำขุ่นนิดๆ





       ท้ายสุดนี้ โปรเซกิวะยังพบว่า สีที่ให้ผลใกล้เคียงกับสีชาร์ทรูสก็คือสีขาว ดังนั้นในวันที่เหยื่อสีชาร์ทรูสไม่ได้ผล เหยื่อตัวต่อไปที่เขาจะเริ่มไล่ใช้ก็คือเหยื่อสีขาว และก็จะใช้ในเงื่อนไขเดียวกันกับเหยื่อสีชาร์ทรูส

ฃอให้ตกปลาด้วยความสนุกสนาน

วันพฤหัสบดีที่ 4 สิงหาคม พ.ศ. 2554

มารู้จักเหยื่อสี Chartreuse (ชาร์ทรูส) ในมุมมองของโปรญี่ปุ่น (1)

       ก่อนอื่นทั้งหมด ผมขอขอบคุณเพื่อนๆที่แวะเวียนไปอุดหนุนที่บู๊ธเมื่อตอนงานเปิดท้ายด้วยนะครับ ตอนนี้สปูน BFG ยังเหลืออยู่อีกนิดหน่อย หากสนใจก็สั่งซื้อเข้ามาได้นะครับ ที่ http://www.facebook.com/BFG.Lure แล้วก็ฝากเข้าไปกด ถูกใจ เข้าเป็นแฟนเพจด้วย เพื่อที่จะได้ติดตามข่าวสารและสินค้าใหม่ที่น่าสนใจในโอกาสต่อไป
       มาเข้าเรื่องของเราเลยดีกว่า ในตอนนี้ จะว่าด้วยแนวทางการใช้เหยื่อในกลุ่มสี Chartreuse (ภาษาไทยอธิบายความหมายไว้ว่า “สีโศก : สีของใบอโศก” จะเข้าใจไหมเอ่ย?) ของโปรเซกิวะ มานะบุ จากค่ายเอเวอร์กรีน มาเล่าสู่กันฟัง
       ตรงนี้ต้องขยายความสีของChartreuse ก่อนเสียหน่อย เพราะผมเชื่อว่าด้วยคำว่าสีโศกนี้คงไม่สามารถสื่อให้เข้าใจได้ง่ายนัก จะขอเพิ่มเติมคำอธิบายให้ว่าเป็นสีเขียวแบบใบไม้อ่อน คือเขียวเหลืองก่ำกึ่งกัน หรือถ้าเป็นนักตกปลารุ่นก่อนๆนึกถึงเหยื่อราพาล่าสางเขียว สีนั้นก็เป็นสีหนึ่งในหมวดสี Chartreuse นี้
เหยื่อสีชาร์ทรูส
       สำหรับโปรเซกิวะแล้วเค้ามีความเชื่ออยู่ว่า การเลือกใช้สีของเหยื่อมีผลต่อการแพ้ชนะในการแข่งขันเป็นอย่างมาก และเหยื่อสีชาร์ทรูสนี้ก็ถือเป็นไม้ตายหนึ่งที่ต้องมีติดกล่องไว้เสมอในทุกการแข่งขัน มันเริ่มจากเมื่อครั้งที่เค้าได้เห็นภาพถ่ายของเหยื่อสีนี้ที่ว่ายอยู่ในสภาพน้ำใสของทะเลสาบภาพหนึ่ง ด้วยภาพนี้ความคิดเรื่องการใช้เหยื่อสีชาร์ทรูสของเค้าก็เปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิง จากความเชื่อที่ว่า เหยื่อสีชาร์ทรูสน่าจะเปล่งแสงสว่างชัดในน้ำที่ใส แต่ภาพที่เห็นกลับกลายเป็นว่าเหยื่อถูกกลืนหายเข้าไปกับสภาพแวดล้อม จากจุดนี้เค้าจึงได้เริ่มศึกษาการทำงานของเหยื่อสีชาร์ทรูสนี้อย่างจริงจังแล้วก็พบว่า ในสภาพนั้นใส เหยื่อที่มีสีคล้ายกับธรรมชาติจะดูเด่นกว่า ส่วนเหยื่อสีชาร์ทรูสนี้ จะดูโดดเด่นขึ้นเมื่อไปใช้ในน้ำที่มีสภาพออกขุ่น ทั้งนี้ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะว่า ในน้ำขุ่นจะมีอณูของตะกอนที่แขวนลอยอยู่ในน้ำมาก แล้วเม็ดอณูเหล่านี้จะรับและสะท้อนสีของเหยื่อสีชาร์ทรูสนี้ได้ดี ทำให้เกิดกลุ่มสีขนาดใหญ่ที่แตกต่างไปจากสภาพแวดล้อม ทำให้ปลาล่าเหยื่อรู้ถึงตำแหน่งของเหยื่อได้อย่างชัดเจน
       ข้อสังเกตเรื่องสีชาร์ทรูสกับสภาพน้ำข้างต้นนี้ มันใช้ได้ดีกับเหยื่อแข็ง ไม่ว่าจะเป็นแคร้งค์เบท มิโนปลั๊ก ฯลฯ แต่เมื่อเป็นเหยื่อพลาสติกนิ่มไม่ว่าจะเป็นหนอน แมลง หรือว่ากุ้ง การมองเห็นเหยื่อในน้ำกลับโดดเด่นทั้งในน้ำใสและน้ำขุ่น ข้อนี้โปรเซกิวะอยากให้นักตกปลาจำเป็นพื้นฐานไว้


ฃอให้ตกปลาด้วยความสนุกสนาน