วันพุธที่ 10 สิงหาคม พ.ศ. 2554

เคล็ด(ไม่)ลับ ของศาสตร์แห่งสปูน (2)


       หลังจากที่เราได้รู้จักกับส่วนประกอบของบอดี้ของสปูนแล้ว ทีนี้ ผมอยากให้นักตกปลาได้เข้าใจถึงพลศาสตร์ของไหลที่เกิดขึ้นกับตัวเหยื่อสปูนเมื่ออยู่ในน้ำ
       เมื่อเหยื่อสปูนที่เราเหวี่ยงไปนั้นตกลงที่ผิวน้ำแล้ว เหยื่อสปูนจะพลิกเอาด้านหน้าเหยื่อลงโดยที่ท้องจะปะทะกับท้องด้านโค้ง ดันเหยื่อให้แกว่งน้อยๆแล้วก็ดิ่งลงไปตามแรงดึงดูดโลก ที่จังหวะนี้ หากเหยื่อสปูนตัวนั้นมีหาง แบบสปูน BFG แผ่นหางจะถูกแรงต้านน้ำที่ปะทะพาเอาตัวเบ็ด3 ทางนั้นพับแนบเก็บเข้ามาที่ท้องเหยื่อด้านเว้าด้วย ดังนั้นผู้ที่ใช้สปูนกับการตกแบบทิ้งดิ่งบ่อยๆจะเห็นได้ว่า เหยื่อสปูนโดยมากตอนขาลงนั้น เหยื่อจะหลบอุปสรรคได้ค่อนข้างดี แต่เหยื่อที่หลบอุปสรรคอย่างกับกิ่งไม้ได้ ก็มักจะเกี่ยวกับอุปสรรคนั้นในจังหวะที่เรากรอขึ้น
       ต่อไป เมื่อเหยื่อถูกกรอ เริ่มจากความเร็วที่ต่ำๆก่อน น้ำส่วนหนึ่งจะผ่านด้านหลังของหูบน ผ่านลิ้นไปปะทะกับท้องเหยื่อแล้วดันให้เหยื่อสไลด์ออกไปเพราะแรงต้านจนกระทั่งตัวเหยื่อพลิกหลบแรงต้านนั้นได้ แต่ก็จะเกิดแรงต้านใหม่ที่ขอบของท้องอีกด้านหนึ่งดันให้เหยื่อสไลด์ออกไปในทิศทางตรงกันข้าม มันจะสลับกันไปอย่างนี้ตลอดในการกรอที่อัตราเร็วที่สม่ำเสมอ แอ็คฌั่นการทำงานของเหยื่อแบบนี้ภาษาฝรั่งเรียกว่า Wobbling ผมขอเรียกเป็นไทยว่า "กวัดไกว" ก็เลยกัน แต่เมื่อเรากรอในอัตราที่เร็วขึ้น แรงต้านใหม่ที่เกิดขึ้นเมื่อเหยื่อสไลด์หนีแรงต้านเดิม จะไม่ได้เกิดขึ้นที่ท้องเหยื่อ แต่จะปะทะกับด้านหน้าของใบสปูน ทำให้เกิดการหมุนควงเพื่อรักษาให้ตัวเองอยู่ในศูนย์กลางของแรงดึงที่มาจากการกรอ อันนี้ภาษาฝรั่งเรียก Rolling ส่วนผมขอเรียกให้เข้าใจง่ายๆว่า "หมุนควง" นะครับ ทั้งหมดนี้เป็นการทำงานของสปูนเมื่ออยู่ในน้ำ
       แท้จริงแล้ว เป็นที่เข้าใจกันอย่างง่ายๆว่า เหยื่อสปูนจะทำงานอยู่ แบบ คือ 1. แบบกวัดไกวไปมา  2. แบบหมุนควงรอบตัว ซึ่งทั่วไปแล้วก็จะตั้งข้อสังเกตกันเป็นหลักไว้ว่า ถ้าเหยื่อสปูนตัวนั้นมีรูปทรงหยดน้ำ (พิมพ์นิยมก็จะเข้าใจเอาว่า สปูนตัวนั้นจะทำงานแบบกวัดไกวเป็นหลัก และถ้าเป็นเหยื่อสปูนทรงใบหลิว ก็จะทำงานแบบควงรอบตัว อย่างนี้เป็นต้น
       แต่ในความเป็นจริง ในการออกแบบสปูน เมื่อเราปรับตำแหน่งนู้นนิดนี่หน่อย การทำงานของสปูนก็จะมีรูปแบบผสมผสานได้ ซึ่งโดยมากก็จะได้ออกมาเป็น ลีลาก็คือ 1. ลีลากวัดไกว 2.ลีลาควงรอบตัว 3. ลีลากวัดไกวผสมกับควงตัว และ 4. ลีลาที่มาเหมือนเลข 8 (อารบิค)
       ลีลาทั้ง นี้เกิดขึ้นได้อย่างไร ผมอยากให้ทำความเข้าใจอย่างนี้ครับ เป็นต้นว่า สปูนทรงหยดน้ำ (พิมพ์นิยมนี้ ถ้าเราขยับให้ท้องเหยื่ออยู่สูงขึ้นไปทางหูบน สิ่งที่เกิดขึ้นคือ เหยื่อตัวนี้จะกลายเป็นเหยื่อที่หมุนควงได้ในอัตรากรอที่ความเร็วต่ำกว่าแบบที่ท้องเหยื่ออยู่ค่อนไปทางหูล่าง ซึ่งจะคงลีลาการกวัดไกวไว้ได้แม้จะกรอในอัตราความเร็วเท่ากัน
       ในตอนต่อไปเรามาดูกันว่า เหยื่อสปูนทรงไหน จะเกิดลีลาอะไร....

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น