|
ภาพของรอกตกปลาที่เก่าแก่ที่สุดเท่าที่ค้นย้อนมาได้ |
ม้วนเก็บสายเบ็ดอุปกรณ์สำคัญอีกอย่างหนึ่งที่บ่งชี้ถึงความต้องการจะส่งเหยื่อออกไปให้ไกลกว่าแค่ผูกสายเบ็ดเข้ากับที่ปลายคัน ณ.ถึงตอนนี้ผมยังค่อนข้างสงสัยว่า คันเบ็ดกับรอกนี้อย่างไหนเกิดก่อนกันแน่ แต่ที่แน่ๆในวันนี้ อุปกรณ์ทั้งสองอย่างนี้ทำงานด้วยกันอย่างเข้ากันได้ดีอย่างที่สุด
ในยุคแรกเริ่มรอกตกปลาน่าจะมีลักษณะแบบง่ายๆ แค่เป็นที่ม้วนเก็บสายเบ็ดที่ร้อยสายเบ็ดผ่านไกด์ที่อยู่บนคันเบ็ดก่อน แล้วก็ได้รับการประดิษฐ์ตัวยึดติดเข้ากับคันเบ็ดตามมาทีหลัง หน้าตาคงคล้ายกับ รอกฟลาย หรือรอกอัลวี่ คือเป็นแบบที่ไม่มีกลไกซับซ้อน
ต่อมา เพื่อให้การกรอเก็บสายเป็นไปได้รวดเร็วขึ้น รอกที่มีเฟืองทดก็ได้ถูกประดิษฐ์ขึ้น มีการขยายหน้ากว้างของหลอดเก็บสายออกเพื่อให้จุสายเบ็ดได้มากขึ้น แล้วเมื่อหล้าหลอดเก็บสายกว้างขึ้น ตัวเกลี่ยสายก็ถูกคิดค้นขึ้น แล้วท้ายสุดระบบฟรีหลอดเก็บสาย และระบบเบรกก็ได้รับการพัฒนาขึ้นมา จนกระทั่งปัจจุบันระบบหน่วงหลอดเก็บสายก็ได้รับการพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง จากแม่เหล็กไปจนถึงระบบอิเลคทรอนิค
วัสดุที่ใช้ทำตัวรอกนี้ก็มีหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็น ไม้ในยุคแรกเริ่ม เหล็ก อลูมิเนียม แบ็กกาไลท์ กราไฟท์ จนกระทั้งในสมัยนี้ใช้แมกนีเซียม ทั้งหมดนี้ก็เพื่อความแข็งแรงและน้ำหนักที่เบาของรอกตกปลานั้นเอง
แล้วเมื่อการดีไซน์รอกตกปลามีการพัฒนาการของรูปทรงไปมากขึ้น การตกผลึกของรูปแบบก็เกิดขึ้น เิกิดเป็นคุณสมบัติเฉพาะของรอกแต่ประเภทไป
รอกฟลาย สำหรับนักตกปลาที่นิยมความคลาสสิค ค้นหาความดั้งเดิมและเรียบง่าย รอกฟลายนี้น่าจะเป็นคำตอบที่ดี แต่กระนั้นรอกฟลายก็ไม่ใช่รอกที่เย็นชืดขาดการพัฒนาการ รอกฟลายในปัจจุบันก็ยังได้รับการพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาเรื่องวัสดุที่ใช้สร้างทำ จนถึงกระทั้งกลไกที่ดูเหมือนเรียบง่าย ที่น่าจะลงตัวมาตั้งนานแล้ว แต่ในความเป็นจริง กลไกรอกฟลายก็ยังมีการเปลี่ยนแปลงมาอยู่เรื่อยๆ เช่น ระบบเบรกที่เพิ่มเข้ามา เป็นต้น
ข้อจำกัดของรอกฟลาย โดยตัวรอกเองแทบจะไม่มีอะไรที่เป็นความต้องการพิเศษที่แตกต่างไปจากรอกตกปลาประเภทอื่นๆ แต่วิธีการใช้ตกปลาของอุปกรณ์ประเภทนี้ นักตกปลาจะต้องดูแลสายฟาดของฟลายมากกว่าการดูแลสายเบ็ดธรรมดาๆ อีกทั้งวิธีการส่งเหยื่อออกไปก็ต้องการทักษะที่แตกต่างไปจากการตกปลาประเภทอื่นๆด้วย
รอกอัลวี่ เป็นรอกอีกหนึ่งตัวที่อยู่ในตระกูลรอกดั้งเดิม ได้รับความนิยมในแถบทวีปออสเตรเลีย ใช้ตกปลาชายฝั่งเสียเป็นโดยมาก หน้าตาและรูปทรงคล้ายกับรอกฟลาย แต่ความแตกต่างของรอกอัลวี่กับรอกฟลายคือ ที่ขารอกอัลวี่ จะสามารถบิดหมุนได้ 90 องศา ทั้งนี้เพื่อให้สายไหลพุ่งออกจากทางด้านข้างของรอกในตอนที่ส่งเหยื่อออกไป
ข้อจำกัดของรอกอัลวี่ เนื่องจากว่าเป็นรอกที่นิยมเฉพาะถิ่น จึงไม่ง่ายที่จะหาซื้อได้ทั่วไปในบ้านเรา อาจจะสั่งซื้อได้ทางอินเตอร์เน็ทนี้ แต่ก็จะไม่ค่อยได้เห็นคนอื่นใช้มากนัก
เมื่อหลอดเก็บสายได้รับการขยายให้มีหน้ากว้างมากขึ้น ได้รับการติดตั้งกลไกทดรอบเก็บสาย มีการประดิษฐ์ตัวเกลี่ยสาย แล้วก็มีเบรก รอกขวางแบบนี้ก็ถือกำเนิดขึ้น รอกขวางแบ่งออกเป็น 2 พวกใหญ่ๆก็คือ รอกสำหรับการเหวี่ยง หรือที่เรียกกันว่า รอกเบท คาสติ้ง กับรอกที่เหมาะกับงานหนักๆสำหรับการลากเหยื่อ หรือที่เรียกกันว่า รอกทรอลลิ่ง
รอกเบท คาสติ้ง เป็นรอกที่เหมาะต่อการส่งเหยื่อออกไปด้วยการเหวี่ยง ความแตกต่างระหว่างรอกเบทฯกับรอกทรอลลิ่งในจุดที่เห็นได้ชัดก็คือ มีระบบหน่วงหลอดเก็บสายในขณะเหวี่ยงเหยื่อ
ระบบหน่วงในปัจจุบันนี้ ก็แยกออกเป็น หน่วงด้วยแรงหนีศูนย์ หน่วงด้วยแรงแม่เหล็ก แล้วระบบหน่วงด้วยแรงแม่เหล็กก็ยังพัฒนาแตกออกเป็น 2 อย่างอีกคือ ปรับแรงหน่วงด้วยแรงหนีศูนย์(ไดว่า) กับปรับแรงหน่วงด้วยระบบอิเลคทรอนิค
นอกจากนี้ในเรื่องของรูปทรง รอกเบทฯก็ยังแยกออกเป็น 2 แบบอีก เช่นอย่างที่เห็นในภาพนี้ เป็นรอกแบบกลม แบบคลาสสิค
อีกรูปทรงหนึ่งที่นิยมก็คือ รอกเบทฯทรงโครงต่ำ หรือที่เรียกว่ารอกโลว์-โปรไฟล์ รอกแบบนี้เป็นรอกที่ดูทันสมัย
และด้วยความที่รอกเบทฯ เป็นรอกที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมากในปัจจุบัน จึงเป็นรอกที่มีตัวเลือกที่หลากหลายในตลาด มีราคาตั้งแต่ไม่กี่ร้อยไปจนถึงเป็นหมื่น
ข้อจำกัดของรอกเบทฯ คือ เป็นรอกที่ต้องใช้ทักษะในการส่งเหยื่ออยู่พอสมควร
รอกทรอลลิ่ง เป็นรอกที่ถูกสร้างมาเพื่อการลากเหยื่อในตอนแรก แต่เมื่อการตกปลามีรูปแบบที่เปลี่ยนไป รอกทรอลลิ่งก็มีวัตถุประสงค์ที่เปิดกว้างมากขึ้น คือไม่ได้ใช้เพียงการลากเหยื่อแต่เพียงอย่างเดียว
จุดเด่นของรอกทรอลลิ่งก็คงเป็นเรื่องของความแข็งแรง เหมาะต่อการปะทะกับปลาตัวใหญ่ๆ ใช้สายที่มีความทนแรงดึงสูงๆ
แต่ในปัจจุบัน ด้วยการพัฒนาการของสายเบ็ดที่ทำให้สายเบ็ดมีความทนแรงดึงสูงขึ้น รอกขวางที่แข็งแรงมากๆแบบรอกทรอลลิ่งก็มีขนาดเล็กลง และได้รับการติดตั้งระบบหน่วงหลอดเก็บสายเข้าไปด้วย
ระบบเบรกของรอกทรอลลิ่ง แบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ เบรกแบบสตาร์แดรก(ด้านซ้ายของรูป) และเบรกแบบลีเวอร์ แดรก(ด้านขวาของรูป) ข้อแตกต่างของเบรกทั้ง 2 ระบบก็คือ จำนวนและขนาดของแผ่นเบรกดังที่เห็นในภาพ
ข้อจำกัดของรอกทรอลลิ่ง ด้วยความที่ถูกสร้างขึ้นมาให้เป็นรอกที่ต้องปะทะกับเกมส์หนักๆ นักตกปลาจึงควรศึกษาให้ดีว่ารอกที่เลือกนั้น เป็นรอกที่มีความแข็งแรงและยืนระยะได้เพียงพอต่อเกมส์ที่จะใช้สู้
รอกอีกจำพวกหนึ่ง คือรอกมีที่ทิศทางเก็บสายทำมุม 90 องศากับทิศทางการหมุนมือหมุน ซึ่งได้แก่รอกสปินคาสติ้ง กับรอกสปินนิ่ง
รอกสปินคาสติ้ง นี่เป็นรอกอีกชนิดหนึ่งที่นักตกปลาบ้านเราไม่ค่อยจะคุ้นชินนัก แต่กับเป็นที่นิยมเป็นอย่างมากสำหรับนักยิงปลาในบ้านเรา ที่จริงพวกฝรั่งมะริกันนิยมให้เด็กๆของพวกเค้าเริ่มต้นตกปลาจากรอกแบบนี้ แต่กระนั้นรอกแบบนี้ก็ไม่ใช่เป็นแค่รอกที่นิยมใช้ในพวกเด็กๆเท่านั้น มีรอกสปินคาสติ้งที่ผลิตมาเพื่อผู้ใหญ่ด้วยเช่นกัน
ข้อจำกัดของรอกสปินคาสติ้ง เพราะว่าไม่ใช่เป็นรอกที่นิยมในบ้านเรา จึงมีตัวเลือกในตลาดไม่ค่อยมากนัก อีกปัญหาที่พบอยู่บ้างก็คือสายพันกันในฝาครอบ
รอกสปินนิ่ง หนึ่งในบรรดารอกยอดนิยมของนักตกปลาทั้งโลก มีตัวเลือกหลากหลายที่สุด มีตั้งแต่ราคาไม่กี่ร้อยบาท ไปจนถึงหลายหมื่นบาท เป็นรอกที่ได้รับการพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง และยังไม่หยุดยั้ง อย่างที่เห็นในภาพ เป็นรอกสปินนิ่งในแบบดั้งเดิม คือตัวสปูลจะยื่นเข้า-ออกภายในตัวรอก ซึ่งไม่ค่อยได้รับความนิยมในปัจจุบัน
นอกจากนี้ ระบบเบรกก็ยังมี 2 แบบใหญ่ๆในปัจจุบัน คือ เบรกปรับด้านหน้า จะมีตัวบิดปรับเบรกอยู่ด้านหน้าของตัวรอกดังในรูป รอกแบบนี้มีให้เลือกมากแบบที่สุดในตลาด มีตั้งแต่ใช้กับสายเล็กๆ ไปจนถึงสายขนาดใหญ่ๆ ในทุกระดับราคาให้นักตกปลาได้ใช้กัน
รอกเบรกท้าย จากในรูปจะเห็นได้ว่ามีปุ่มหมุนปรับเบรกอยู่ที่ส่วนท้ายของรอก เบรกแบบนี้เหมาะกับเกมส์ที่ไม่หนักหน่วงนัก เช่นตกปลาเกล็ด หรือปลาเล็กๆ โดยส่วนตัวถ้าเป็นรอกเบรกท้ายก็จะใช้กับสายไม่เกิน 8 ปอนด์เทส
ในรูปนี้มีอุปกรณ์ที่พิเศษอยู่สักหน่อย หากสังเกตที่ล้อผ่านสาย จะเห็นแกนหน้าตาแปลกๆยื่นขึ้นมา แกนนี้ จะเป็นที่ที่ไว้เหนี่ยวสายเบ็ดมาสัมผัสกับแกน แล้วเมื่อเหนี่ยวเข้าหาตัว หน้ารอกก็จะเปิดขึ้นให้เกิดความพร้อมที่จะส่งเหยื่อออกไป อุปกรณ์ตัวนี้ไม่ค่อยเห็นในรอกปัจจุบันมากนัก
เรื่องต่อไปที่นักตกปลาควรรู้ก็คือ คุณสมบัติของรอกที่ใช้ประกอบการตัดสินใจในการเลือกใช้รอกแต่ละประเภทมีอะไรบ้าง
(โปรดติดตามตอนต่อไป)