วันพุธที่ 22 กันยายน พ.ศ. 2553

ไลน์ สต๊อปเปอร์ ริก ประกอบครั้งเดียว ใช้ได้ 3 แบบ

       ช่วงนี้ งานการเริ่มเข้ามา ก็เลยหาเวลามาเขียนเรื่องได้น้อย ค้นไปค้นมาเจอภาพในสต๊อกเก่าๆก็เลยเอามาเผยแพร่อีกครั้งที่นี่ ถือเป็นการขัดตาทัพไปก็แล้วกัน....

       ริก(Rig) คือ กลวิธีการประกอบเหยื่อ ร่วมกับตะกั่วถ่วงน้ำหนัก โดยมากมักใช้กับเหยื่อยาง(พลาสติกนิ่ม)และริก ที่นักตกปลาในบ้านเราจะรู้จักโดยมาก คือ เท็กซัส ริก แต่นอกจากเท็กซัส ริก นี้แล้ว ยังมี ริก อื่นๆอีกมากมาย เช่น แคโรไลน่า ริก, ดร๊อป ช็อต ริก ฯลฯ
       ในครั้งนี้ ผมจะมาเสนออีกริกหนึ่ง ซึ่งเป็นริกที่สะดวกต่อการปรับแปลง เพราะเป็น ริก แบบ 3 in 1 ผมเรียกริกแบบนี้เองว่า ไลน์สต๊อปเปอร์ ริก
       ไลน์สต๊อปเปอร์ ริก นี้ ก็คือ การที่เพิ่มไลน์สต๊อปเปอร์เข้าไปในสายเบ็ด 2 ตัว ดูจากรูปด้านบนนะครับ

       เริ่มจาก ใส่ไลน์สต๊อปเปอร์ตัวแรกเข้าไปก่อน แล้ว ใส่ตะกั่ว แล้วใส่ไลน์สต๊อปเปอร์เข้าไปอีกตัว แล้วจึงผูกเบ็ดเกี่ยวเหยื่อยางเข้าไป เท่านี้ก็เป็นอันเสร็จพิธี

       ตามรูปนี้ นักตกปลา เพียงแต่ รูดไลน์สต๊อปเปอร์ตัวบนขึ้นไป จะครึ่งเมตรหรือเมตรนึงก็ได้ เท่านี้เราก็จะได้ เท็กซัส ริก
       ในรูปนี้ นักตกปลาเพียงแต่รูดชุดไลน์สต๊อปเปอร์ และ ตะกั่วทั้งหมดลงมาติดที่ตัวเบ็ด เท่านี้ก็กลายเป็น ล็อค เท็กซัส ริก
       หรือถ้าต้องการจะใช้ริกแบบ แคโรไลน่า ริก ก็เพียงแต่ รูดชุดไลน์สต๊อปเปอร์ และ ตะกั่ว ขึ้นตามความยาวที่ต้องการ ก็จะเปลี่ยนเป็นแคโรไลน่า ริก แล้วครับ

วันอาทิตย์ที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2553

ว่าด้วยเหยื่อไม่ปลอมดูบ้าง(3)

       ในตอนนี้ก็จะขอพูดถึงเหยื่อสำหรับปลากินซาก ก่อนอื่นอยากจะอธิบายถึงบทบาทหน้าที่ของปลากินซากเสียก่อนว่ามีความสำคัญเพียงไรในธรรมชาติ หน้าที่ที่สำคัญของปลากินซากคือกำจัดซากหมักหมมของสัตว์น้ำอื่นๆที่ตายในท้องน้ำ เป็นกลไกทางธรรมชาติที่สร้างสัตว์กินซากขึ้นมาเพื่อทำความสะอาดท้องน้ำ ส่วนประโยชน์ที่ปลากินซากได้ก็คือ ความที่ไม่จำเป็นต้องมีสายตาดีเหมือนกับปลากินเนื้อ สังเกตได้ว่าปลากินซากมักจะมีดวงตาขนาดเล็ก แต่ทางกลับกันกลับจะมีประสาทรับรู้กลิ่น และประสาทสัมผัสที่ไวอยู่มาก
       และด้วยความที่ปลากินซากรับรู้กลิ่นได้ดีนี่เอง เหยื่อสำหรับปลากินซากจึงมีกลิ่นที่เย้ายวนดึงดูดให้ปลากินซากเหล่านี้ได้พบเจอเหยื่อ
       ต่อไป เรามาทำความรู้จักกับเหยื่อของปลากินซากกันหน่อย
วิธีการพันเหยื่อหมักกับตัวเบ็ด
        เหยื่อหมัก เป็นสุดยอดของเหยื่อสำหรับตกปลากินซาก ในอดีตถือเป็นว่าเป็นเหยื่อที่มีความผูกพันกับความเชื่อและอาถรรพ์ด้วย เช่น เหยื่อจะให้ได้ผลต้องทำที่ทางสามแพร่งในคืนพระจันทร์เต็มดวง หรือขณะที่ทำหรือใช้ห้ามบ่นว่าเหม็นเพราะอาจจะทำให้เหยื่อหมักนั้นปลาไม่กิน เป็นต้น
       เหยื่อหมักเป็นเหยื่อที่เกิดจากการหมักเนื้อปลา ไขมันสัตว์ แล้วมีนุ่นเป็นตัวประสาน วิธีใช้ จะใช้เหยื่อหมักพันรอบๆตัวเบ็ด ข้อแนะนำ ควรใช้ถุงมือขณะจับเหยื่อ
       เหยื่อดอง เป็นเหยื่อที่มีคุณสมบัติคล้ายกับเหยื่อหมักแต่จะมีกลิ่นที่รุนแรงน้อยกว่า โดยมากเหยื่อดองจะเป็นเหยื่อที่ทำจากหมู3ชั้น แช่ในน้ำปลา ใช้ได้ผลดีกับ ปลาดุก ปลากด และบางทีตะพาบก็กินเบ็ดด้วย
       วิธีเกี่ยวเหยื่อ จะเกี่ยวเข้าคมเบ็ดพับไปพับมาแล้วเหลือหางให้พริ้วยาวเล็กน้อย
        สบู่ เป็นเหยื่อที่ไม่ค่อยได้เห็นใครใช้มานานพอสมควร แต่บังเอิญได้ดูรายการที่ฝรั่งไปตกปลาในแอฟริกา เห็นในรายการนั้นเค้าใช้สบู่สำหรับวางเบ็ดราว ก็เลยนึกขึ้นได้ว่าสบู่ก็ใช้ตกปลากินซากได้ดีอยู่เหมือนกัน
       วิธีเกี่ยว จะหั่นสบู่ออกมาเป็นก้อนขนาดประมาณ 1 ลูกบาศก์นิ้ว แล้วเกี่ยวเข้าที่กลางก้อน ใช้ได้ผลดีกับปลาดุก
       ไส้ไก่และเครื่องในไก่ เป็นอีกหนึ่งเหยื่อคลาสสิคที่ยังใช้ได้ผลดีมาจนถึงปัจจุบัน เหมาะสำหรับตกปลาแม่น้ำ โดยมากก็จะได้ผลกับ ปลาสวาย ปลาสังกะวาด ปลาแขยง ฯลฯ
       วิธีเกี่ยว ถ้าในกรณีที่หวังปลาใหญ่ก็จะเกี่ยวทั้งพวง แต่ถ้าใช้ตกทั่วไปก็จะหั่นออกเป็นส่วนๆ เกี่ยวเข้าที่ตัวเบ็ดแล้วใช้ด้ายมัดพวงไส้ไว้ที่หูเบ็ดก็ได้ ในส่วนเป็นเครื่องในส่วนอื่นๆ เช่น ตับ ก็เกี่ยวทะลุไว้ทั้งก้อนก็จะใช้ได้ผลดี

       เหยื่อสำหรับปลากินซากนั้น กลิ่นและไขมันจะเป็นตัวเรียกปลาให้เข้าหาเบ็ดได้ดีที่สุด อ่อ แล้วโดยมากปลากินซากนี้จะหากินตอนกลางคืนนะครับ

       ฃอให้ตกปลาด้วยความสนุก...

วันพฤหัสบดีที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2553

ว่าด้วยเหยื่อไม่ปลอมดูบ้าง(2)

       หลังจากที่เราได้รู้จักเหยื่อตัวหลักไปแล้ว ในครั้งนี้ ก็จะขอแนะนำเรื่องของเหยื่อผสมกันบ้าง เหยื่อผสมมีความหลากหลายว่ากันไปตามแต่จินตนาการว่านักตกปลาคนไหนจะคิดว่าเหยื่อแบบใดดึงดูดปลาได้มากกว่า
       ส่วนประกอบของเหยื่อผสม คือ
       1. เหยื่อหลัก เป็นตัวเนื้อของเหยื่อที่จะเกาะอยู่กับตัวเบ็ด
       2. ตัวฟุ้งกระจาย ตัวผสมส่วนนี้จะดึงดูดปลาในระยะที่อยู่ในเขตฟุ้งกระจายให้เข้ามาหาเหยื่อ
       3. กลิ่น เนื่องจากประสาทรับรู้กลิ่นของปลาอยู่ในระดับดีเยี่ยม ดังนั้นกลิ่นจึงเป็นอีกตัวช่วยหนึ่งที่จะดึงดูดปลาให้เข้ามาหาเหยื่อ
       4. ตัวประสาน จะเป็นตัวที่ทำให้เหยื่อรวมกันแล้วเกาะตัวเบ็ดได้ดีขึ้น
       อย่างที่ได้กล่าวไว้ในตอนที่แล้ว เหยื่อบางอย่างก็ทำหน้าที่ทั้ง 4 ส่วนนี้ได้ดีอยู่แล้ว เช่น  รำ ประสานเข้าด้วยความชื้น หรือน้ำ ถ้านวดจนเหนียวก็จะกลายเป็นตัวที่เกาะเบ็ด หรือถ้าพ่นน้ำแค่พอชื้นๆแค่พอกอบติดได้ก็จะได้เป็นตัวช่วยฟุ้งกระจาย และแน่นอนว่ากลิ่นของรำข้าวหอมย่อมเป็นตัวดึงดูดปลาได้ดีอยู่แล้ว เป็นต้น
      *ในสมัยก่อน เหยื่อสูตรง่ายๆที่ผมมักจะใช้ตกปลาในสมัยก่อนเป็นประจำก็ตือ ขนมปัง+รำ+ไข่ แล้วก็ปรุงแต่งกลิ่นด้วยหัวเชื้อกลิ่น โดยมากก็จะใช้กลิ่นใบเตยเป็นหลัก ใช้ได้ผลดีกับปลายี่สกเทศ และปลาไน แต่สำหรับในปัจจุบันนี้ ผมมักตกปลาด้วยขนมปังปล่าวๆ ส่วนจะปั่นละเอียดหรือใช้แต่ขนมปังขอบก็ขึ้นอยู่กับชนิดของปลาที่จะตก

       นอกจากเหยื่อสูตรแต่ละสูตรที่นักตกปลาจะคิดค้นกันเองแล้ว เหยื่อผสมสำเร็จที่วางขายมากมายก็ใช้ได้ผลเหมือนกัน วิธีใช้ก็ง่ายดาย เพียงแต่ผสมด้วยน้ำให้พอปั้นได้ก็เป็นพอ
       ข้อสังเกตหนึ่งของความเหนียวของเหยื่อที่เหมาะต่อการตกปลา คือ เป็นความเหนียวที่พอเกาะตัวเบ็ดและทนต่อแรงเหวี่ยงเหยื่อได้ หากว่าเหยื่อที่ร่วนเกินไป เหยื่อจะละลายและร่วงออกจากตัวเบ็ด แต่เหยื่อที่เหนียวเกินไป การฟุ้งกระจายของเหยื่อก็จะไม่เพียงพอจะดึงดูดปลาให้เข้าหาเหยื่อ



      เหยื่ออย่างต่อไปที่เหมาะกับปลากินเนื้อ อาหารโดยธรรมชาติของปลากินเนื้อโดยมากก็จะเป็นพวกสัตว์น้ำขนาดเล็ก ส่วนใหญ่ปลากินเนื้อเหล่านี้มักจะเลือกเหยื่อที่ยังเป็นๆ แต่ก็สามารถใช้เหยื่อตายที่ยังสดอยู่ได้เช่นกัน ปลากินเนื้อพวกนี้ได้แก่ ปลาช่อน ปลาชะโด ปลากะพง ปลาม้า ฯลฯ
       กุ้งฝอย เป็นเหยื่อที่เหมาะต่อปลากินเนื้อขนาดเล็ก อาจเป็นอาหารแรกเริ่มที่พ่อ-แม่ปลาใช้สอนให้ลูกรู้จักการล่้า และนอกจากปลาเล็กแล้ว บางทีปลาใหญ่ก็เข้าฉวยเหมือนกัน
       วิธีเกี่ยว โดยมากกุ้งฝอยจะถูกใช้ในลักษณะเป็นเหยื่อตายเสียมากกว่า วิธีเกี่ยวก็จะเกี่ยวที่กลางตัวกุ้งหนึ่งตะขอเบ็ดจะเกี่ยวกุ้งฝอยไว้หลายตัว หรือหากกุ้งฝอยใหญ่พอจะเกี่ยวกุ้งเป็นตัวเดียวก็ได้ผลดีเหมือนกัน
        กุ้งดีดขัน สำหรับมือตกปลาในแม่น้ำบางปะกงคงรู้จักกันดี เป็นเหยื่อที่ใช้สำหรับตกปลาม้า ปลาดุกทะเล ขนาดตัวกุ้งที่เหมาะต่อการใช้อยู่ที่ 4-6 ซม.
       วิธีเกี่ยว ใช้ตัวเบ็ดฝังลงในกุ้งที่บริเวณปล้องใกล้กับข้อหาง เกี่ยวจากท้องสวนขึ้นมาทางหลัง ใช้สายลีดเดอร์ประมาณ 20-25 ซม.
        แมลงแกลบ เหยื่อยอดฮิตอีกอย่างหนึ่งที่ใช้ตกปลาหมอได้ค่อนข้างดี เป็นเหยื่อที่ผมไม่ค่อยจะได้เห็นใครใช้มานานแล้ว แต่เชื่อว่าหากเจอและนำมาใช้ก็น่าจะให้ผลดีอยู่เช่นเดิม
       วิธีเกี่ยว ใช้ตัวเบ็ดฝังลงที่ตรงอก หรือปล้องส่วนหางก็ได้
       แมลงสาบขาว เป็นแมลงสาบที่ลอกคราบออกมาใหม่ๆและยังไม่กลับสีเป็นสีแดง แมลงสาบขาวนี้ยังไม่มีกลิ่นเหม็นสาบสักเท่าไหร่ ใช้ได้ผลดีกับปลาหมอ ปลานิล และปลากินซาก เช่น ปลากด ปลาดุก
       วิธีเกี่ยว เกี่ยวคล้ายกับแมลงแกลบ
       จิ้งหรีด เป็นเหยื่อแมลงอีกอย่างหนึ่งที่มีการเพาะเลี้ยงไว้เพื่อเป็นอาหารปลา จึงทำให้หาซื้อได้ไม่ยาก เหมาะต่อการใช้ตกปลาหมอ ปลานิล
       วิธีเกี่ยว เกี่ยวคล้ายกับแมลงแกลบ
       ไส้เดือน เป็นสุดยอดของเหยื่ออีกอย่างหนึ่ง ในเกือบทุกวัฒนธรรมการตกปลาทั่วโลกยอมรับและใช้ไส้เดือนเป็นเหยื่อ ตกปลาได้สารพัดชนิด ไม่ว่าจะเป็น ปลากินพืช ปลากินเนื้อ หรือว่าปลากินซาก
       วิธีเกี่ยว ใช้ได้ทั้งแบบเกี่ยวตัวเดียว และเกี่ยวเป็นพวง หากใช้เกี่ยวตัวเดียว ควรเกี่ยวทั้งตัว ไม่ควรแบ่งใช้เป็นท่อน ที่สำคัญควรปล่อยให้มีหางยาวกระดุกกระดิกจะเรียกความสนใจจากปลาได้ดีกว่า
       ลูกปลานิล เหยื่อของปลากินเนื้ออีกอย่างที่หาใช้ได้ง่าย และให้ผลดี เหมาะต่อการใช้ตก ปลาช่อน ปลากะพง
       วิธีเกี่ยว หากเหยื่อตัวใหญ่หน่อย ก็จะเกี่ยวที่บริเวณใต้ครีบหลังค่อนมาทางหัว แต่หากว่าเหยื่อตัวเล็กก็จะเกี่ยวให้ค่อนมาทางหาง
       ลูกปลาคราฟ ด้วยสีของปลาที่แปลกไปจากปลาทั่วไป ทำให้ปลาคราฟมีจุดเด่นที่ปลากินเนื้อเห็นได้ง่าย อีกทั้งยังมีเพาะขายไว้เพื่อเป็นเหยื่อให้กับปลาใหญ่อยู่แล้ว จึงไม่ยากที่จะซื้อหา ใช้ได้ผลดีกับ ปลาช่อน ปลาชะโด ปลากะพง ฯลฯ
       วิธีเกี่ยว เกี่ยวเหมือนกับปลานิล


       ในวันพรุ่งนี้ จะมาคุยกันต่อในเรื่องของเหยื่อปลากินซาก

(โปรดติดตามตอนต่อไป)

วันพุธที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2553

ว่าด้วยเหยื่อไม่ปลอมดูบ้าง

       เรื่องของเหยื่อปลอม ก็ได้พูดถึงไปแล้ว มาตอนนี้ก็เลยขอโอกาสมาเล่าเรื่องของเหยื่อไม่ปลอมกันบ้าง
       ก่อนอื่น นักตกปลาควรทราบก่อนว่า ปลาในน้ำนี่ ถ้าแบ่งโดยลักษณะอาหารที่ปลาเหล่านั้นเลือกกิน เราก็จะได้ปลาที่กินอาหารแตกต่างกัน 3 ประเภท คือ ปลากินพืช, ปลากินเนื้อ, แล้วก็ปลากินซาก ปลาบางประเภทก็รักเดียวใจเดียว คือ กินพืชก็จะกินอาหารที่มาจากพืชอย่างเดียว ไม่สนเหยื่ออย่างอื่น แต่ก็มีอยู่หลายประเภทที่กินทั้งพืช ทั้งปลาอื่น แล้วก็กินซากปลาในพร้อมๆกัน ดังนั้น การแบ่งเหยื่อ จึงแบ่งออกเป็นเหยื่อสำหรับปลากินพืช ปลากินเนื้อ แล้วก็ปลากินซาก ซึ่งเหยื่อเหล่านี้ก็มีโอกาสที่ปลาบางตัวจะกินเหยื่อข้ามตระกูลมาเหมือนกัน

       เริ่มต้นจากเหยื่อสำหรับปลากินพืชกันก่อน พวกปลากินพืชนี่ ที่แท้จริงตอนสมัยที่เป็นตัวอ่อนนี่ก็กินพวกแพลงตอนสัตว์เหมือนกัน แต่พอโตขึ้นมาเรื่อยๆ ก็เปลี่ยนหันมากินเจ ปลาประเภทนี้ก็มี ปลาตะเพียน ปลายี่สก ปลากา ปลาสวาย ฯลฯ เหยื่อที่เหมาะกับปลาพวกนี้ก็จะมีอยู่หลายแบบ เป็นต้นว่า
       เหยื่อปลากินพืชที่มีสภาพตามธรรมชาติ หรือปรับแต่งไม่มากนัก เช่น
       ผักชี เป็นผักที่มีกลิ่นฉุน ปลากินพืชหลายชนิดชอบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งปลาตะเพียน วิธีใช้ เราจะเอาตัวเบ็ดเกี่ยวเข้ากับที่ขั้วก้านที่มีใบติดเป็นช่อ อาจจะปล่อยลอย หรือปล่อยแบบจมช้าก็ดี

       กล้วย เป็นเหยื่ออีกอย่างที่นิยมใช้ตกปลาบ่อเมื่อสัก 20 ปีก่อน โดยมากจะใช้กับปลาสวาย วิธีใช้ เราจะมีเข็มร้อยแทงสายลีดเข้าไปในกล้วยตัดท่อน ดึงจนตัวเบ็ดจะฝังกล้วย ตรงนี้เราจะเอาเปลือกกล้วยชิ้นเล็กๆเกี่ยวเบ็ดรองกันแรงกระชากตอนเหวี่ยง จะทำให้เหวี่ยงเบ็ดง่ายขึ้น
       มันเทศ เป็นเหยื่อที่ก่อนใช้จะต้องนำไปต้มให้นิ่มก่อน ใช้ได้ผลดีกับปลาตระกูลปลาไน ถ้าใช้ตกปลาไนในแหล่งน้ำไหลในธรรมชาติ ก็ไม่ต้องต้มให้สุกมาก แล้วหั่นเป็นทรงลูกเต๋า ร้อยเข้าไปในลีดเดอร์ 2-3 ชิ้นคล้ายกับร้อยกล้วย ส่วนหากตกในแหล่งน้ำนิ่งก็จะต้มให้สุกแล้วทำมันบดปั้นขนาดไม่ต้องใหญ่มาก ก็น่าจะได้ผลดี
       ผลไม้สุก การใช้ผลไม้นี้ก็ต้องดูตามฤดูกาลด้วย นอกจากมะละกอที่นำมาเสนอเป็นตัวอย่างแล้ว ลูกไม้อย่างอื่นๆ เช่น มะเขือเทศ ละมุด ฯลฯ ก็ให้ผลดีเหมือนกัน วิธีใช้ก็ร้อยเข้าลีดเดอร์เหมือนกันกับกล้วย





       เหยื่อปลากินพืช ที่ได้รับการปรุงแต่งสภาพแล้ว เช่น
       รำข้าว เป็นเหยื่อที่นักตกปลาคุ้นชินกันดี นักตกปลาที่ใส่ใจกับเหยื่อมากๆ บางที่ต้องการแต่รำข้าวที่คัดสายพันธุ์มาแล้ว เช่นรำของข้าวหอมมะลิ แล้วยังต้องร่อนผ่านตะแกรงเพื่อให้ได้เหยื่อที่ละเอียด บางทีก็เอาไปคั่วไฟให้หอมอีกด้วย
       วิธีใช้ โดยมากก็จะปั้นเข้ากับตระกร้อ หรือจะนวดให้พอให้เหนียวปั้นกับตัวเบ็ดติดก็ได้
       ขนมปัง นี่ก็เป็นเหยื่ออีกอย่างที่นักตกปลาคุ้นเคย นักตกปลาที่ใส่ใจกับรายละเอียด ก็มักจะแยกใช้ระหว่างขอบขนมปังกับส่วนที่เป็นขนมปังขาว บ้างก็เอาไปปั่นให้ละเอียด หรือบางทีก็เอาแต่ขอบไปกอบกับตะกร้อก็แล้วแต่ความถนัดและความเชื่อมั่น
        ข้าวเหนียวนึ่ง เหยื่ออีกประเภทหนึ่งที่ใช้ได้ผลดีกับปลาบ่อ วิธีใช้ก็ปั้นข้าวเหนียวเป็นลูกเล็กๆ แล้วนำไปกอบรวมเข้ากับตัวเบ็ด ใช้ได้ผลดีกับปลาสวาย และปลาบึกตามบ่อ
       ขนมถ้วยฟู ขนมไทยหลายอย่างก็ใช้ได้ผลกับปลาสวายตามบ่อเช่นกัน วิธีใช้ขนมถ้วยฟูก็ให้เกี่ยวคล้ายกับกล้วย จะใช้ขอบขนมปังรองเป็นตัวกันเหยื่อแตกก็เหมาะสมดี
       ขนมกล้วย เหยื่อนี้สำหรับมือตกปลาแม่น้ำคงคุ้นเคยดีอยู่ ข้อดีของขนมกล้วยคือเนื้อจะเนื้อกว่าขนมถ้วยฟูทำให้ทนทานดีในน้ำไหล วิธีใช้คือหั่นเป็นทรงลูกเต๋าแล้วก็ร้อยเข้ากับลีดเดอร์คล้ายกับมันเทศต้ม
       เส้นก๋วยเตี๋ยว นี่ก็เป็นเหยื่ออีกหนึ่งอย่าง ที่นักตกปลาแม่น้ำนิยมใช้กัน วิธีใช้ ม้วนเส้นก๋วยเตี๋ยวให้เป็นหลอด แล้วร้อยเข้ากับลีดเดอร์ ใช้ได้ผลดีกับสวายแม่น้ำอย่างเหลือเชื่อ






       เท่าที่ยกตัวอย่างมานี้ ถือเป็นเหยื่อตัวหลักๆที่ใช้ตกปลา แต่นอกเหนือไปจากกรรมวิธีการใช้เหยื่อเพียวแล้ว นักตกปลายังนิยมผสมเหยื่อมากกว่าหนึ่งอย่างรวมเข้าด้วยกัน ในตอนต่อไป จะมาพูดถึงเหยื่อผสม และสูตรเหยื่อผสมดูบ้าง

(โปรดติดตามตอนต่อไป)

วันอังคารที่ 14 กันยายน พ.ศ. 2553

การเลือกใช้กล่องอุปกรณ์




       อารมณ์ศิลปินเข้าจู่โจม ทำให้ไม่ได้เขียนบล็อกไปหนึ่งวัน แล้ววันนี้ก็ทำถ้าจะเบี้ยวเสียอีก แต่ก็ไม่เป็นไร ไปค้นหาบทความเก่าๆจากเวบสยามฟิชชิ่งคลับมาแก้ขัดให้ก่อน เดี๋ยวพอได้เกร็ดดีๆจะเอาของใหม่ๆมาขยายความให้อีก


       มีคำพูดอยู่ว่า
"นักตกปลาที่มีความพร้อมสูง เขามักจะมีความหลากหลายของอุปกรณ์มากกว่าร้านขายอุปกรณ์ย่อมๆร้านนึง แต่ถึงจะมีความหลากหลายแค่ไหนก็ตาม เมื่อถึงสถานะการณ์ใช้งานจริง เขาผู้นั้นมักพอใจใช้ชุดปลายสายแค่ชุดเดียวและชุดนั้นมักจะเป็น ชุดเดิม"
       การไปตกปลาแต่ละครั้ง ความพร้อมของอุปกรณ์อื่นๆที่นอกเหนือไปจากคัน รอก และสายเบ็ดแล้ว ก็นับว่ามีความสำคัญอยู่ไม่น้อยและอุปกรณ์ช่วยตัวหนึ่ง ที่จะทำหน้าที่รวบรวมและทำให้เราได้พกพาอุปกรณ์ต่างๆเหล่านั้นไปมาได้สะดวกก็คือ กล่องใส่อุปกรณ์ตกปลา นักตกปลาสามารถตระเตรียมของเผื่อใช้ทั้งหลายใส่ไว้ในกล่องอุปกรณ์ แต่หลักการเลือกกล่องอุปกรณ์นั้น นักตกปลาควรต้องคำนึงถึงความสามารถเหล่านี้ด้วย

       กล่องอุปกรณ์ที่มีความจุมาก เมื่อใส่ของมากก็จะทำให้มีน้ำหนักมาก ไม่สะดวกต่อการพกพาแบบหิ้วไปไหนไปกัน แต่กล่องที่มีความจุน้อย ก็แน่นอนว่า จะมีความสามารถในการนำพาของเผื่อทั้งหลายไปได้น้อยชิ้น โดยส่วนตัวผม ผมมักจะเอากล่้องอุปกรณ์ไปสองขนาด คือ กล่องที่มีความจุมาก จะไว้สำหรับนำพาอุปกรณ์ไปตั้งไว้เป็นสถานี แล้วมีกล่องอุปกรณ์ใบเล็กกว่าไว้สำหรับแบ่งของมาจากกล่องอุปกรณ์หลักแล้วพกพาติดตัวไปในภาคสนาม

       ในการเลือกสรรเหยื่อที่ไว้สำหรับการพกพาไปภาคสนาม ผมก็จะคัดเหยื่อโดยเน้นที่ความหลากหลาย เช่น มีทั้งเหยื่อผิวน้ำ เหยื่อดำน้ำ ลึก ตื้น จมเร็ว จมช้า ให้มีความหลากหลายครอบคลุม และอาจมีตัวเบ็ดสำรองไว้จำนวนหนึ่ง

       การเลือกรูปแบบของกล่องอุปกรณ์ตกปลาก็มีความสำคัญเหมือนกัน กล่องบางชนิดถูกออกแบบให้มีการป้องกันการลืมล็อคฝา ก็เป็นการมั่นใจได้ว่าเหยื่อปลอมของเราคงจะไม่เทกระจาดระหว่างการพกพาไปไหนต่อไหนเป็นแน่ กล่องอุปกรณ์บางตัว ก็ถูกออกแบบให้สามารถเปิดฝาได้แม้ในที่ที่มีความคับแคบ(เช่นพื้นที่ซอกมุมต่างๆบนเรือ) ก็จะทำให้เราสามารถหยิบใช้ได้ง่ายแม้ในพื้นที่คับขัน กล่องอุปกรณ์บางชนิดก็ออกแบบมาให้เราสามารถเห็นของที่จุภายในนั้นได้ก็เพื่อลดเวลาการตัดสินใจเลือกเหยื่อนั่นเอง

วันอาทิตย์ที่ 12 กันยายน พ.ศ. 2553

รอก รอก รอก ....(2)

       นอกเหนือไปจากประเภทของรอกตกปลาที่ได้จำแนกไปในตอนที่แล้ว คุณสมบัติที่ดีของรอกที่นักตกปลาต้องการมีอยู่หลายๆด้าน แต่ก็จะฃอพูดถึงแต่ด้านที่สำคัญๆ ไว้ในกรณีประกอบการตัดสินใจเลือกใช้รอกตัวหนึ่งๆ โดยส่วนตัวแล้วผมดูจากคุณสมบัติด้านต่างๆดังต่อไปนี้
       ความแข็งแรงและความราบรื่น รอกตกปลาเป็นอุปกรณ์ที่มีกลไกซับซ้อนอยู่พอควร มีการส่งถ่ายกำลังผ่านเฟืองนั้นส่งต่อไปเฟืองนี้อยู่ตลอดการใช้งาน ส่วนสายเบ็ดในปัจจุบันก็มีความทนแรงดึงที่สูงขึ้น อีกทั้งบางทีต้องทำงานอยู่ในสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยต่อการผุกร่อน เช่น ใช้งานในทะเล ตากแดด เปียกฝน ฯลฯ ดังนั้นรอกที่ดีจะต้องมีความทนทานต่อเงื่อนไขทั้งหลายเหล่านี้
       ปัจจัยที่สำคัญต่อความแข็งแรงทนทานก็คือ สร้างจากวัสดุที่เหมาะสม แต่นักตกปลาต้องมีความเข้าในข้อดีข้อจำกัดของวัสดุอยู่บ้าง เช่น เฟืองที่ทำจากแสตนเลสแข็งแรงดี แต่ก็มีข้อจำกัดในด้านความนิ่มนวลขณะใช้งานและมีน้ำหนักมาก หรือ เฟืองทองเหลืองใช้งานได้นิ่มนวลดี แต่ก็มีข้อจำกัดด้านน้ำหนักและความแข็งแรง หรือเฟืองที่ทำจากวัสดุพิเศษ เช่น แมกนีเซียมผสม มีความเบา แต่ก็ผุกร่อนได้ง่าย
       นอกจากเฟือง กลไกอื่นๆอย่างเช่น ตัวเกลี่ยสายทนทานต่อการเสียดสีของสายเบ็ดที่เป็นสายถักได้ดีหรือไม่ หรือขารอกสปินนิ่งสามารถทนแรงเบรกสูงสุดของรอกได้หรือไม่ เป็นต้น
       น้ำหนัก ในเกมส์บางเกมส์ของการตกปลา น้ำหนักของรอกก็เป็นส่วนสำคัญต่อการตัดสินใจเช่นกัน เช่น ในการตกปลาด้วยเหยื่อปลอมนั้น นักตกปลาต้องถือชุดอุปกรณ์ตกปลาอยู่ตลอดการใช้งาน น้ำหนักที่มากกว่าจะสร้างความล้าให้กับนักตกปลา และจะทำให้ความเบื่อมาเบียดเบียนความสุข แต่อย่างกับบางเกมส์ เช่น ทรอลลิ่ง น้ำหนักของชุดอุปกรณ์จะไม่ค่อยเป็นภาระนักขณะที่รอปลาเข้าชาร์จเพราะกระบอกปักคันจะเป็นตัวช่วยรับภาระนั้นไว้แทน
       เบรกและความเรียบเนียน นักตกปลาควรเข้าการทำงานของเบรกในรอกตกปลาเสียก่อนว่า ระบบเบรกเกือบทั้งหมดของรอกตกปลา จะประกอบด้วยแผ่นโลหะ และแผ่นอโลหะ ทำงานร่วมกัน โดยแผ่นโลหะจะยึดล็อคกับชิ้นส่วนอื่น แล้วแผ่นอโลหะจะลอยตัวเป็นอิสระ แล้วใส่แรงบีบแผ่นเบรกทั้งสองชนิดนี้เข้าหากัน เกิดแรงฝืดจากห้องเบรกที่ส่งต่อไปยังแกนแล้วถ่ายแรงฝืดนี้ไปถึงสปูลของรอก แล้วกลายเป็นแรงต้านเมื่อปลาลากสายเบ็ดออกจากสปูล
       เบรกที่ดี การทำงานของเบรกก็จะต้องมีความเนียน คือมีอัตราความฝืดในการจ่ายสายอย่างสม่ำเสมอ ไม่กระตุก ไม่ลื่นไถล และที่สำคัญจะต้องไม่ล็อค ซึ่งอาการเหล่านี้ล้วนแล้วแต่เป็นอาการผิดปกติ
       อะไหล่ รอกตกปลาก็เหมือนกับเครื่องยนต์กลไกอื่นๆที่ถึงแม้จะดูแลดีอย่างไรก็ตาม ก็จะมีโอกาสสึกหรอเสียหายได้ ดังนั้นรอกตกปลาที่ดี ควรจะมีอะไหล่ไว้บริการหลังการขายด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะชิ้นส่วนที่สำคัญๆ อย่าให้รอกตกปลาของเรากลายเป็นที่ทับกระดาษไปเพราะขาดเพียงอะไหล่ชิ้นเล็กๆนิดเดียว


       เช่นเดียวกันกับคันเบ็ด ผมเชื่อว่าหากพิจารณารอกตกปลาด้วยองค์ประกอบดังกล่าวข้างต้นนี้ นักตกปลาจะเลือกใช้รอกตกปลาที่ถูกใจและภูมิใจได้แน่นอน

      ฃอให้เจอรอกที่เป็นความภาคภูมิใจ...

วันเสาร์ที่ 11 กันยายน พ.ศ. 2553

รอก รอก รอก ....

ภาพของรอกตกปลาที่เก่าแก่ที่สุดเท่าที่ค้นย้อนมาได้
       ม้วนเก็บสายเบ็ดอุปกรณ์สำคัญอีกอย่างหนึ่งที่บ่งชี้ถึงความต้องการจะส่งเหยื่อออกไปให้ไกลกว่าแค่ผูกสายเบ็ดเข้ากับที่ปลายคัน ณ.ถึงตอนนี้ผมยังค่อนข้างสงสัยว่า คันเบ็ดกับรอกนี้อย่างไหนเกิดก่อนกันแน่ แต่ที่แน่ๆในวันนี้ อุปกรณ์ทั้งสองอย่างนี้ทำงานด้วยกันอย่างเข้ากันได้ดีอย่างที่สุด
       ในยุคแรกเริ่มรอกตกปลาน่าจะมีลักษณะแบบง่ายๆ แค่เป็นที่ม้วนเก็บสายเบ็ดที่ร้อยสายเบ็ดผ่านไกด์ที่อยู่บนคันเบ็ดก่อน แล้วก็ได้รับการประดิษฐ์ตัวยึดติดเข้ากับคันเบ็ดตามมาทีหลัง หน้าตาคงคล้ายกับ รอกฟลาย หรือรอกอัลวี่ คือเป็นแบบที่ไม่มีกลไกซับซ้อน
       ต่อมา เพื่อให้การกรอเก็บสายเป็นไปได้รวดเร็วขึ้น รอกที่มีเฟืองทดก็ได้ถูกประดิษฐ์ขึ้น มีการขยายหน้ากว้างของหลอดเก็บสายออกเพื่อให้จุสายเบ็ดได้มากขึ้น แล้วเมื่อหล้าหลอดเก็บสายกว้างขึ้น ตัวเกลี่ยสายก็ถูกคิดค้นขึ้น แล้วท้ายสุดระบบฟรีหลอดเก็บสาย และระบบเบรกก็ได้รับการพัฒนาขึ้นมา จนกระทั่งปัจจุบันระบบหน่วงหลอดเก็บสายก็ได้รับการพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง จากแม่เหล็กไปจนถึงระบบอิเลคทรอนิค
       วัสดุที่ใช้ทำตัวรอกนี้ก็มีหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็น ไม้ในยุคแรกเริ่ม เหล็ก อลูมิเนียม แบ็กกาไลท์ กราไฟท์ จนกระทั้งในสมัยนี้ใช้แมกนีเซียม ทั้งหมดนี้ก็เพื่อความแข็งแรงและน้ำหนักที่เบาของรอกตกปลานั้นเอง
       แล้วเมื่อการดีไซน์รอกตกปลามีการพัฒนาการของรูปทรงไปมากขึ้น การตกผลึกของรูปแบบก็เกิดขึ้น เิกิดเป็นคุณสมบัติเฉพาะของรอกแต่ประเภทไป
       รอกฟลาย สำหรับนักตกปลาที่นิยมความคลาสสิค ค้นหาความดั้งเดิมและเรียบง่าย รอกฟลายนี้น่าจะเป็นคำตอบที่ดี แต่กระนั้นรอกฟลายก็ไม่ใช่รอกที่เย็นชืดขาดการพัฒนาการ รอกฟลายในปัจจุบันก็ยังได้รับการพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาเรื่องวัสดุที่ใช้สร้างทำ จนถึงกระทั้งกลไกที่ดูเหมือนเรียบง่าย ที่น่าจะลงตัวมาตั้งนานแล้ว แต่ในความเป็นจริง กลไกรอกฟลายก็ยังมีการเปลี่ยนแปลงมาอยู่เรื่อยๆ เช่น ระบบเบรกที่เพิ่มเข้ามา เป็นต้น
       ข้อจำกัดของรอกฟลาย โดยตัวรอกเองแทบจะไม่มีอะไรที่เป็นความต้องการพิเศษที่แตกต่างไปจากรอกตกปลาประเภทอื่นๆ แต่วิธีการใช้ตกปลาของอุปกรณ์ประเภทนี้ นักตกปลาจะต้องดูแลสายฟาดของฟลายมากกว่าการดูแลสายเบ็ดธรรมดาๆ อีกทั้งวิธีการส่งเหยื่อออกไปก็ต้องการทักษะที่แตกต่างไปจากการตกปลาประเภทอื่นๆด้วย
       รอกอัลวี่ เป็นรอกอีกหนึ่งตัวที่อยู่ในตระกูลรอกดั้งเดิม ได้รับความนิยมในแถบทวีปออสเตรเลีย ใช้ตกปลาชายฝั่งเสียเป็นโดยมาก หน้าตาและรูปทรงคล้ายกับรอกฟลาย แต่ความแตกต่างของรอกอัลวี่กับรอกฟลายคือ ที่ขารอกอัลวี่ จะสามารถบิดหมุนได้ 90 องศา ทั้งนี้เพื่อให้สายไหลพุ่งออกจากทางด้านข้างของรอกในตอนที่ส่งเหยื่อออกไป
       ข้อจำกัดของรอกอัลวี่ เนื่องจากว่าเป็นรอกที่นิยมเฉพาะถิ่น จึงไม่ง่ายที่จะหาซื้อได้ทั่วไปในบ้านเรา อาจจะสั่งซื้อได้ทางอินเตอร์เน็ทนี้ แต่ก็จะไม่ค่อยได้เห็นคนอื่นใช้มากนัก
       เมื่อหลอดเก็บสายได้รับการขยายให้มีหน้ากว้างมากขึ้น ได้รับการติดตั้งกลไกทดรอบเก็บสาย มีการประดิษฐ์ตัวเกลี่ยสาย แล้วก็มีเบรก รอกขวางแบบนี้ก็ถือกำเนิดขึ้น รอกขวางแบ่งออกเป็น 2 พวกใหญ่ๆก็คือ รอกสำหรับการเหวี่ยง หรือที่เรียกกันว่า รอกเบท คาสติ้ง กับรอกที่เหมาะกับงานหนักๆสำหรับการลากเหยื่อ หรือที่เรียกกันว่า รอกทรอลลิ่ง
       รอกเบท คาสติ้ง เป็นรอกที่เหมาะต่อการส่งเหยื่อออกไปด้วยการเหวี่ยง ความแตกต่างระหว่างรอกเบทฯกับรอกทรอลลิ่งในจุดที่เห็นได้ชัดก็คือ มีระบบหน่วงหลอดเก็บสายในขณะเหวี่ยงเหยื่อ
       ระบบหน่วงในปัจจุบันนี้ ก็แยกออกเป็น หน่วงด้วยแรงหนีศูนย์ หน่วงด้วยแรงแม่เหล็ก แล้วระบบหน่วงด้วยแรงแม่เหล็กก็ยังพัฒนาแตกออกเป็น 2 อย่างอีกคือ ปรับแรงหน่วงด้วยแรงหนีศูนย์(ไดว่า) กับปรับแรงหน่วงด้วยระบบอิเลคทรอนิค
       นอกจากนี้ในเรื่องของรูปทรง รอกเบทฯก็ยังแยกออกเป็น 2  แบบอีก เช่นอย่างที่เห็นในภาพนี้ เป็นรอกแบบกลม แบบคลาสสิค
       อีกรูปทรงหนึ่งที่นิยมก็คือ รอกเบทฯทรงโครงต่ำ หรือที่เรียกว่ารอกโลว์-โปรไฟล์ รอกแบบนี้เป็นรอกที่ดูทันสมัย
       และด้วยความที่รอกเบทฯ เป็นรอกที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมากในปัจจุบัน จึงเป็นรอกที่มีตัวเลือกที่หลากหลายในตลาด มีราคาตั้งแต่ไม่กี่ร้อยไปจนถึงเป็นหมื่น
       ข้อจำกัดของรอกเบทฯ คือ เป็นรอกที่ต้องใช้ทักษะในการส่งเหยื่ออยู่พอสมควร
       รอกทรอลลิ่ง เป็นรอกที่ถูกสร้างมาเพื่อการลากเหยื่อในตอนแรก แต่เมื่อการตกปลามีรูปแบบที่เปลี่ยนไป รอกทรอลลิ่งก็มีวัตถุประสงค์ที่เปิดกว้างมากขึ้น คือไม่ได้ใช้เพียงการลากเหยื่อแต่เพียงอย่างเดียว
       จุดเด่นของรอกทรอลลิ่งก็คงเป็นเรื่องของความแข็งแรง เหมาะต่อการปะทะกับปลาตัวใหญ่ๆ ใช้สายที่มีความทนแรงดึงสูงๆ
       แต่ในปัจจุบัน ด้วยการพัฒนาการของสายเบ็ดที่ทำให้สายเบ็ดมีความทนแรงดึงสูงขึ้น รอกขวางที่แข็งแรงมากๆแบบรอกทรอลลิ่งก็มีขนาดเล็กลง และได้รับการติดตั้งระบบหน่วงหลอดเก็บสายเข้าไปด้วย
       ระบบเบรกของรอกทรอลลิ่ง แบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ เบรกแบบสตาร์แดรก(ด้านซ้ายของรูป) และเบรกแบบลีเวอร์ แดรก(ด้านขวาของรูป) ข้อแตกต่างของเบรกทั้ง 2 ระบบก็คือ จำนวนและขนาดของแผ่นเบรกดังที่เห็นในภาพ
       ข้อจำกัดของรอกทรอลลิ่ง ด้วยความที่ถูกสร้างขึ้นมาให้เป็นรอกที่ต้องปะทะกับเกมส์หนักๆ นักตกปลาจึงควรศึกษาให้ดีว่ารอกที่เลือกนั้น เป็นรอกที่มีความแข็งแรงและยืนระยะได้เพียงพอต่อเกมส์ที่จะใช้สู้
       รอกอีกจำพวกหนึ่ง คือรอกมีที่ทิศทางเก็บสายทำมุม 90 องศากับทิศทางการหมุนมือหมุน ซึ่งได้แก่รอกสปินคาสติ้ง กับรอกสปินนิ่ง       
       รอกสปินคาสติ้ง นี่เป็นรอกอีกชนิดหนึ่งที่นักตกปลาบ้านเราไม่ค่อยจะคุ้นชินนัก แต่กับเป็นที่นิยมเป็นอย่างมากสำหรับนักยิงปลาในบ้านเรา ที่จริงพวกฝรั่งมะริกันนิยมให้เด็กๆของพวกเค้าเริ่มต้นตกปลาจากรอกแบบนี้ แต่กระนั้นรอกแบบนี้ก็ไม่ใช่เป็นแค่รอกที่นิยมใช้ในพวกเด็กๆเท่านั้น มีรอกสปินคาสติ้งที่ผลิตมาเพื่อผู้ใหญ่ด้วยเช่นกัน
       ข้อจำกัดของรอกสปินคาสติ้ง เพราะว่าไม่ใช่เป็นรอกที่นิยมในบ้านเรา จึงมีตัวเลือกในตลาดไม่ค่อยมากนัก อีกปัญหาที่พบอยู่บ้างก็คือสายพันกันในฝาครอบ
       รอกสปินนิ่ง หนึ่งในบรรดารอกยอดนิยมของนักตกปลาทั้งโลก มีตัวเลือกหลากหลายที่สุด มีตั้งแต่ราคาไม่กี่ร้อยบาท ไปจนถึงหลายหมื่นบาท เป็นรอกที่ได้รับการพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง และยังไม่หยุดยั้ง อย่างที่เห็นในภาพ เป็นรอกสปินนิ่งในแบบดั้งเดิม คือตัวสปูลจะยื่นเข้า-ออกภายในตัวรอก ซึ่งไม่ค่อยได้รับความนิยมในปัจจุบัน
       นอกจากนี้ ระบบเบรกก็ยังมี 2 แบบใหญ่ๆในปัจจุบัน คือ เบรกปรับด้านหน้า จะมีตัวบิดปรับเบรกอยู่ด้านหน้าของตัวรอกดังในรูป รอกแบบนี้มีให้เลือกมากแบบที่สุดในตลาด มีตั้งแต่ใช้กับสายเล็กๆ ไปจนถึงสายขนาดใหญ่ๆ ในทุกระดับราคาให้นักตกปลาได้ใช้กัน
       รอกเบรกท้าย จากในรูปจะเห็นได้ว่ามีปุ่มหมุนปรับเบรกอยู่ที่ส่วนท้ายของรอก เบรกแบบนี้เหมาะกับเกมส์ที่ไม่หนักหน่วงนัก เช่นตกปลาเกล็ด หรือปลาเล็กๆ โดยส่วนตัวถ้าเป็นรอกเบรกท้ายก็จะใช้กับสายไม่เกิน 8 ปอนด์เทส
       ในรูปนี้มีอุปกรณ์ที่พิเศษอยู่สักหน่อย หากสังเกตที่ล้อผ่านสาย จะเห็นแกนหน้าตาแปลกๆยื่นขึ้นมา แกนนี้ จะเป็นที่ที่ไว้เหนี่ยวสายเบ็ดมาสัมผัสกับแกน แล้วเมื่อเหนี่ยวเข้าหาตัว หน้ารอกก็จะเปิดขึ้นให้เกิดความพร้อมที่จะส่งเหยื่อออกไป อุปกรณ์ตัวนี้ไม่ค่อยเห็นในรอกปัจจุบันมากนัก
       เรื่องต่อไปที่นักตกปลาควรรู้ก็คือ คุณสมบัติของรอกที่ใช้ประกอบการตัดสินใจในการเลือกใช้รอกแต่ละประเภทมีอะไรบ้าง

(โปรดติดตามตอนต่อไป)

วันศุกร์ที่ 10 กันยายน พ.ศ. 2553

มาทำความรู้จักคันเบ็ดตกปลากันดีกว่า (2)

       ภาพด้านบนนี้ ภาพแนวตั้งเป็นภาพของสัดส่วนและส่วนประกอบของคันเบ็ด ส่วนภาพแนวนอนจะเป็นภาพของแบบแผ่นผืนที่จะนำมาม้วนเป็นคันเบ็ด
       คุณสมบัติของคันเบ็ด โดยทั่วไปนักตกปลาจะดูคุณสมบัติของคันเบ็ดในด้านต่างๆเช่น น้ำหนักของคันเบ็ด, ความแข็ง-อ่อน, แรงดีด-แรงงัด, ความไวในการส่งผ่านแรงสั่นสะเทือน, แล้วก็ความทนทานของคันเบ็ด ซึ่งคุณสมบัติทั้งหลายเหล่านี้ล้วนขึ้นอยู่กับปัจจัยจาก


1. วัสดุหลักที่ใช้ทำคันเบ็ด
2. อุปกรณ์ประกอบต่างๆที่อยู่บนคันเบ็ด
3. มิติของคันเบ็ด



       จากแค่ 3 ส่วนนี้ ก็เพียงพอต่อการบ่งชี้ว่าคันเบ็ดใดมีคุณสมบัติอย่างไร
       1.วัสดุที่นำมาทำคันเบ็ด ในปัจจุบันวัสดุที่ใช้ทำคันเบ็ดถูกคัดสรรปรุงแต่งสังเคราะห์ขึ้นมาอย่างมากมาย ซึ่งก่อให้เกิดคันเบ็ดที่มีคุณสมบัติที่ตรงต่อความต้องการของนักตกปลาและตลาด จึงขอยกตัวอย่างโดยสังเขปดังต่อไปนี้
       ไม้ไผ่ ไม้ไผ่แม้นักตกปลาในบ้านเราจะไม่ค่อยคุ้นเคยกันนักก็ตาม แต่สำหรับนักตกปลาในต่างประเทศ คันไม้ไผ่ก็ยังถือว่าเป็นคันเบ็ดที่มีนักตกปลาบางกลุ่มที่นิยมความคลาสสิคเล่นกันอยู่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งพวกตกด้วยชุดฟลาย
       คันไม้ไผ่ เป็นคันที่มีความขลังในตัว เป็นดนตรีก็เทียบกับฟังเพลงจากวงซิมโฟนี ออร์เคสตร้า เต็มวง
       แต่ข้อจำกัดอย่างหนึ่งของคันไม้ไผ่ก็คือ ต้องการการดูแลอยู่พอสมควร การจัดเก็บก็ควรอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ไม่รุนแรงมาก เช่น ไม่ปะทะกับแสงแดดโดยตรง ไม่ชื้นจนเกินไป แล้วต้องไม่วางพิงกับผนังไว้นานๆอย่างเด็ดขาด เพราะคันเบ็ดจะโค้งงอตามแนวที่วางพิง
       ไฟเบอร์ กลาส เมื่อช่วงการพัฒนาการทางเคมีภัณฑ์และความสำเร็จในการพัฒนาวัสดุสังเคราะห์เป็นไปด้วยดี ในช่วงนี้ผู้พัฒนาคันเบ็ดก็ได้รู้จักกับวัสดุใหม่ที่มีคุณสมบัติที่เสถียรกว่าวัสดุธรรมชาติ แรงดีดแรงงัดก็มีความสม่ำเสมอในทุกๆชิ้นในสายการผลิต
       คันไฟเบอร์ กลาส ถือเป็นคันที่มีประสิทธิภาพรอบด้านในยุคสมัยนั้น แต่เมื่อเทียบกับเทคโนโลยีในปัจจุบัน คันไฟเบอร์ กลาส กลับมีข้อจำกัดตรงที่มีน้ำหนักมาก ความไวในการส่งผ่านแรงสั่นสะเทือนค่อนข้างน้อย แต่ด้วยความเหนียวทนทานของไฟเบอร์ กลาส ก็ทำให้เหมาะกับงานสำหรับตกปลาด้วยเหยื่อปลอมขนาดเล็กๆ เช่น ปลาเทร้า ซึ่งสำหรับผม ผมมักจะใช้คันไฟเบอร์ กลาสสำหรับงานสายเล็ก พวก 3-4 ปอนด์สำหรับตกปลากล็ดด้วยทุ่นชิงหลิว (หรือบางทีก็เอาไปตกปลากะพงบ่อเหมือนกัน)
       กราไฟท์ ยุคต่อมาการพัฒนาการด้านเทคโนโลยีวัสดุศาสตร์ดีขึ้น สามารถประสานกราไฟท์ให้ได้เป็นเส้นใย และนำมาทอเป็นผืน แล้วนำมาม้วนรอบแกนแล้วประสานด้วยกาวให้อยู่ตัว คันกราไฟท์ก็ถือกำเนิดขึ้น
       ข้อดีของวัสดุกราไฟท์คือเบา และมีแรงดีดดี และเมื่อนักประดิษฐ์ได้ลองถักทอแผ่นกราไฟท์ด้วยโครงสร้างที่ต่างกันก็เกิดคุณสมบัติของคันเบ็ดที่แตกต่างออกไป แต่ข้อจำกัดของกราไฟท์ก็คือ เป็นวัสดุที่เปราะบาง และเป็นสื่อไฟฟ้า เคยมีกรณีฟ้าผ่าลงคันเบ็ดมาแล้วหลายหน และในที่สุดก็ได้มีการผสมข้ามวัสดุกันระหว่างกราไฟท์ กับไฟเบอร์กลาส ก็ทำให้ได้วัสดุทำคันที่สนองต่อการตลาดมากขึ้น
       คาร์บอนไฟเบอร์ และเมื่อสามารถนำธาตุกราไฟท์มาถักทอเป็นแผ่นผืนได้ หลังจากนั้นก็ไ้ด้มีการศึกษานำเอาวัตถุธาตุอื่นๆมาทอประสานกัน คาร์บอน ก็เป็นอีกหนึ่งวัตถุธาตุที่ได้รับการพัฒนามาจนเป็นคันเบ็ด เช่นเดียวกันกับวัตถุธาตุอื่นๆ เช่น โบรอน เป็นต้น
       ข้อดีของ วัตุธาตุพิเศษเหล่านี้คือ นักประดิษฐ์ได้คัดสรรนำธาตุที่มีความแกร่งและหยืดหยุ่นสูงมาประกอบ อีกทั้งยังมีความเบาเป็นพิเศษ แต่ข้อจำกัดของวัสดุใหม่ๆเหล่านี้คือ ราคาที่สูง เพราะวัสดุเหล่านี้ ยังมีการศึกษาพัฒนาคุณสมบัติอยู่เรื่อยๆ เพื่อให้ได้สิ่งที่เหมาะสมกว่า
       2. อุปกรณ์ประกอบต่างๆที่อยู่บนคันเบ็ด นอกจากปัจจัยด้านวัสดุและโครงสร้างการประสานของวัสดุที่นำมาสร้างเป็นคันเบ็ดแล้ว อุปกรณ์ประกอบต่างๆบนคันเบ็ด ก็ล้วนแต่ส่งผลต่อคุณสมบัติของคันเบ็ดทั้งสิ้น เช่น
       รีลซีท หรือที่เรียกว่าตัวยึดขารอก ความสำคัญของรีลซีทนี่แทบจะเป็นตัวกำหนดประเภทของคันนั้นๆ ว่าจะเป็นคันสำหรับ สปินนิ่ง, คาสติ้ง, ทรอลลิ่ง ฯลฯ
       วัสดุที่ใช้ทำรีลซีทก็มีมากมาย ไม่ว่าจะเป็นไม้ก๊อก อลูมิเนียม พลาสติก แต่ที่เป็นที่นิยมในปัจจุบัน ดูเหมือนจะเป็นรีลซีทที่ทำจากกราไฟท์ เนื่องจากมีความทนทานและง่ายต่อการดูแลรักษา อีกทั้งยังมีรูปทรงที่หลากหลายไว้สนองต่อความต้องการอีกด้วย
       ไกด์ หรือว่าห่วงนำสายเบ็ด นี่ก็เป็นอุปกรณ์อย่างหนึ่งที่ส่งผลต่อคุณสมบัติของคันเบ็ดเป็นอย่างมาก นอกจากไกด์จะเป็นตัวบ่งชี้ว่าไกด์แบบใดเมื่อติดตั้งไปบนคันใดแล้ว คันเบ็ดนั้นก็เหมาะสมจะใช้กับอุปกรณ์ประเภทใด ดีไซน์ของไกด์ก็ยังมีส่วนต่อประสิทธิภาพของคันเบ็ดนั้นๆอีกด้วย
       วงแหวนส่วนที่สัมผัสกับสายเบ็ดก็มีความสำคัญเช่นกัน วัสดุที่ใช้ทำวงแหวนต้องเหมาะต่อสายเบ็ดที่จะใช้งานด้วย ซึ่งในปัจจุบันนี้ก็คงต้องยกให้ ซิลิคอน คาร์ไบด์ ว่าเหมาะสมต่อสายเบ็ดเกือบทุกประเภท
       ตำแหน่งของไกด์แต่ละตัว มีความสำคัญต่อการส่งถ่ายพลังของคันอย่างถึงที่สุดด้วย
       เพราะฉะนั้น ประเภทของไกด์ที่เหมาะสม วางบนตำแหน่งที่เหมาะสม แม้แต่คันที่ทำจากวัสดุธรรมดาๆก็กลายเป็นสุดยอดคันเบ็ดได้
การวางไกด์อย่างสไปรอน ว่ากันว่าจะช่วยให้คันแสดงประสิธิภาพสูงสุด
       3. มิติของคันเบ็ด ไม่ว่าจะเป็นความยาว อัตราเรียว ลำหักลำโค่น เหล่านี้ล้วนแต่มีผลต่อคุณสมบัติของคันเบ็ดโดยตรง เช่น สมมติเงื่อนไขว่าตัวแปรอื่นๆอยู่บนค่าเดียวกัน คันที่ยาวก็ย่อมเป็นธรรมดาที่จะส่งเหยื่อไปได้ไกลกว่าคันสั้น แต่คันที่ยาวกว่าก็จะเก้งก้างไม่เหมาะสมต่อพื้นที่ที่มีอุปสรรคกีดขวาง หรือคันที่อวบโตและหนากว่าก็ย่อมจะแข็งกว่าคันที่เพียวเรียวกว่า แต่ในขณะเดียวกันคันที่อวบหนากว่าก็ย่อมจะมีน้ำหนักมากกว่า หรือคันที่สร้างจะวัสดุที่ดีกว่าและผ่านกระบวนการที่ประณีตย่อมมีประสิทธิภาพและคุณสมบัติที่เหมาะสมต่อความต้องการมากกว่า แต่ก็จะมีราคาที่สูงกว่า อย่างนี้เป็นต้น




       นอกจากมิติที่มองเปรียบเทียบได้ด้วยสายเปล่าอย่างที่กล่าวไปแล้ว แอคชั่นของคันก็ถือเป็นอีกหนึ่งมิติที่นักตกปลาจะต้องนำมาประกอบการตัดสินใจในการเลือกใช้คันเบ็ดหนึ่งๆด้วย
       คันที่มีแอคชั่นแข็ง ก็เหมาะต่อการส่งเหยื่อที่มีน้ำหนักมากกว่า แต่ก็จะส่งผ่านการรับรู้แรงสั่นสะเทือนด้อยกว่าคันที่มีแอคชั่นอ่อน
       อนึ่ง แรงดีดแรงงัดของคัน ก็เป็นอีกหนึ่งมิติที่มองด้วยตาเปล่าไม่เห็นแต่ก็สำคัญไม่แพ้กันเช่นกัน
       คันที่มีพาวเวอร์สูงๆ ก็เหมาะที่จะใช้กับสายที่มีความทนแรงดึงสูงๆ แต่ก้ไม่เหมาะกับสายที่มีแรงยืดตัวต่ำๆ(ในกรณีนี้แก้ด้วยการใช้ช็อค ลีดเดอร์)
       ส่วนคันที่มีพาวเวอร์ไม่มาก ก็เหมาะกับสายที่มีความทนแรงดึงน้อยๆ เพราะคันจะเป็นตัวซับแรงกระชากได้ดี

       ด้วย 3 องค์ประกอบนี้ ก็น่าจะช่วยให้นักตกปลาตัดสินใจเลือกคันเบ็ดที่เหมาะสมกับงานแต่เหมาะสมต่อตัวเองได้ไม่ยาก
       ฃอให้เจอคันเบ็ดที่ถูกใจนะครับ....