คันเบ็ด ในยุคแรกเริ่มทำจากวัสดุอะไรถ้าจะว่ากันตามหลักฐานที่นักมานุษยวิทยาว่าไว้ก็ไม่มีข้อชี้ชัดแต่อย่างใด วัสดุที่ใช้สร้างคันเบ็ดในสมัยโบราณเป็นวัสดุที่มีในธรรมชาติ ซึ่งป่านนี้ก็คงผุพังเปื่อยยุ่ยไปจนไม่เห็นซาก คงได้เพียงแต่สันนิษฐานเอาว่าน่าจะเป็นไม้ไผ่ เพราะไผ่เป็นไม้ที่มีอยู่มาก คุณสมบัติพิเศษคือ เหนียว เบา และมีความยาวที่เพียงพอ แรกๆก็คงใช้ไม้ไผ่ตามที่มีอยู่ในธรรมชาติก่อน แล้วจากนั้นจึงได้พัฒนาผ่าไม้ไผ่ออกเป็นส่วนเล็กๆแล้วนำมาประกอบให้ได้คันเบ็ดที่มีคุณสมบัติที่ดีขึ้น สามารถควบคุมรูปทรงได้ง่ายขึ้น
ต่อมา เมื่อมีการคิดค้นอุปกรณ์ม้วนเก็บสายเบ็ด สิ่งที่ถือกำเนิดต่อมาก็คือ ห่วงร้อยสายหรือว่าไกด์ แล้วเมื่ออุปกรณ์ม้วนสายเป็นรูปเป็นร่างมากขึ้น ตัวจับยึดอุปกรณ์ม้วนสายจึงถือกำเนิดขึ้นมา จนกระทั่งมนุษย์มีการเดินทางมากขึ้น เพื่อความสะะดวกในการนำคันเบ็ดไปไหนต่อไหน อุปกรณ์ช่วยลดและต่อความยาวคันเบ็ดจึงถูกประดิษฐ์ขึ้นมา และเครื่องอำนวยความสะดวกอื่นๆ เช่นห่วงคล้องเบ็ด หรือว่าร่องแฉกที่โคนคันไว้สำหรับล็อคกับเข็มขัดสู้ปลา หรือกระบอกปักคัน ก็เกิดตามๆมา
ส่วนประกอบต่างๆของคันเบ็ด |
คันชิงหลิว คันเบ็ดแบบนี้คงสภาพของคันเบ็ดสมัยแรกเริ่มไว้เกือบครบถ้วน เพียงแต่ได้รับการพัฒนาการทางงานวัสดุเข้าไป ในปัจจุบัน คันชิงหลิวนี้ได้รับการพัฒนาไปมาก ทำให้คันเบ็ดเหล่านี้ สามารถตกปลาขนาดใหญ่ๆได้ โดยที่คันเบ็ดเรียวบางและเบามากขึ้น
คันฟลาย รอกเก็บสายในยุคแรกๆ เป็นอุปกรณ์เก็บสายเบ็ดแบบเรียบง่าย พอได้รับการใส่ขารอกและแขนหมุนเข้าไป รอกฟลายก็ได้ถือกำเนิดขึ้น และพร้อมกันนั้น คันฟลาย อุบัติขึ้นพร้อมๆกัน
แม้กระทั่งในปัจจุบัน คันฟลายก็ยังคงความดั้งเดิมเอาไว้ได้มาก ไกด์แบบโครงลวด ที่ยึดรอกแบบแหวนปล่าวๆที่ไม่ต้องใช้เกลียว ก็ยังพบว่าเป็นส่วนประกอบของคันฟลายในปัจจุบันอยู่หลายๆรุ่น
คันคาสติ้ง และเมื่อรอกตกปลาได้รับการพัฒนาขึ้นไปอีก โดยมีการประดิษฐ์เฟืองทดรอบเพื่อช่วยให้การเก็บสายทำได้สะดวกขึ้น จุสายได้มากขึ้น ไกเหนี่ยวเพื่อช่วยในการยึดจับจึงเกิดขึ้น แล้วก็กลายเป็นคันคาสติ้งประเภทต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นคันสำหรับรอกเบทคาสติ้ง หรือคันสำหรับรอกสปินคาสติ้ง
คันสปินนิ่ง ต่อมาเมื่อรอกได้ถูกประดิษฐ์ให้มีขาที่ยื่นแกนของหลอดเก็บสายให้ห่างออกมาจากแนวของคันเบ็ดแล้ว ไกเหนี่ยวที่ใช้ช่วยยึดจับจึงหมดความจำเป็นไป แต่ไกด์ต้องยึดตัวออกมารับแนวสายที่ห่างออกมาจากแนวคันมากขึ้น ตอนนั้นคันสปินนิ่งก็ถือกำเนิดขึ้นอย่างสมบูรณ์
คันเซิร์ฟ แล้วเมื่ออยากที่จะส่งเหยื่อให้ไกลออกไปอีก คันที่มีขนาดยาว รวมถึงด้ามที่มีขนาดยาว ก็เกิดขึ้นเพื่อรองรับความต้องการนี้ คันแบบนี้เรียกกันว่า คันเซิร์ฟ ครับ
คันเซิร์ฟนี้ มีทั้งแบบที่ใช้กับรอกสปินนิ่ง และรอกเบทคาสติ้งครับ
คันไอซ์ฟิชชิ่ง แต่ใช่ว่าจะผลิตแต่เพียงคันเบ็ดที่ยาวๆเพื่อให้ส่งเหยื่อออกไปไกลๆเท่านั้น ยังมีคันบางประเภท ที่ถูกสร้างขึ้นมาอย่างสั้นๆ โดยมากจะยาวไม่เกิน 3 ฟุต เพื่อใช้ในการที่ไม่ต้องส่งเหยื่อออกไปไกล แต่ต้องการใช้สำหรับหย่อนเหยื่อลงในแนวดิ่งบนพื้นที่แคบๆอย่างเช่น รูที่ขุดบนผิวทะเลสาบที่แข็งแล้ว
แน่นอนว่า คันเบ็ดแบบนี้ มีทั้งสำหรับรอกสปินนิ่ง และรอกเบทคาสติ้งเช่นกัน
คันทรอลลิ่ง คันบางคันถูกสร้างขึ้นมาอย่างแข็งแรง ดูบึกบึน ไกด์ หรือขายึดรอกต้องใหญ่และแข็งแรง เพื่อใช้กับงานหนักๆ เช่นไว้ลากเหยื่อตัวใหญ่ๆสำหรับปลาตัวโตๆในทะเล ซึ่งปลาบางตัวอาจหนักเป็น 100 กิโลกรัม!!!
คันสแตนด์ อัพ คันแบบนี้ ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อใช้ตกบนเรือที่มีคนตกปลาในทะเลพร้อมกันทีเดียวมากๆ คันที่ยาวเก้งก้างอาจเป็นอุปสรรคให้ฅนรอบข้างได้ คันแบบนี้จึงได้ถูกพัฒนาขึ้น
ลักษณะของคันแบบนี้จะมีความยาวไม่มาก แต่มีด้ามมือจับที่ค่อนข้างยาว เพื่อให้นักตกปลาได้ทดแรงตอนสู้ปลา แต่ในปัจจุบันไม่ค่อยได้รับความนิยมนัก
คันจิ๊กกิ้ง ต่อมาเมื่อสายเบ็ดได้รับการพัฒนาให้มีความทนแรงดึงสูงขึ้น รอกตกปลามีความแข็งแรงมากขึ้น สามารถนำไปใช้กับปลาใหญ่ๆได้มั่นใจขึ้น คันเบ็ดก็ได้รับการพัฒนาขึ้นตาม
คันจิ๊กกิ้ง ถือเป็นคันเบ็ดสมัยใหม่ที่ยังมีพัฒนาการอยู่อย่างต่อเนื่อง ทั้งเทคนิคการกลับไกด์ตัวใกล้รอกสำหรับคันประเภทสปินนิ่งเพื่อเลี่ยงปัญหาสายไปพันกับไกด์ เป็นต้น
ทั้งหมดที่กล่าวมานั้น เป็นเพียงตัวอย่างของประเภทของคันส่วนหนึ่ง แต่เรื่องที่สำคัญที่นักตกปลาควรรู้เกี่ยวกับคันเบ็ดก็คือ คุณสมบัติของคันเบ็ดนั้นๆว่ามีคุณสมบัติอย่างไร
(โปรดติดตามตอนต่อไป)
เยี่ยมครับ
ตอบลบ