วันพฤหัสบดีที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2554

เอาเรื่องศาสตร์ของมิโนมาเล่าสู่กันฟังบ้าง (3)


       นตอนท้ายสุดนี้ ก็ฃอหยิบยกเอาเรื่องการtuning เหยื่อมิโนมาสำหรับนักตกปลาที่ต้องการจะปรับแต่งเหยื่อให้เป็นเหยื่อเฉพาะตัวก็แล้วกัน
       การปรับแต่งเหยื่อมิโนนี้ในเบื้องแรก เอาอย่างง่ายที่สุดกันก่อน ก็คือการปรับระดับความถ่วงจำเพาะของตัวเหยื่อ ที่เป็นที่นิยมของนักตกปลาชาวญี่ปุ่นเลยก็คือการแปะแผ่นตะกั่วเพิ่มน้ำหนัก เพื่อปรับจากเหยื่อลอยให้เป็นเหยื่อแบบไม่ลอยไม่จม สิ่งที่สำคัญก็คือ การแปะตะกั่วนี้ต้องคำนึงถึงความบาลานซ์ของเหยื่อด้วย โดยมากการแปะตะกั่วจะแปะกัน 2 จุด คือ ที่ใต้ท้องเหยื่อหลังเบ็ดตัวท้อง 1 จุด และก็ที่หลังลิ้นอีก 1 จุด ที่ติดอย่างนี้ก็เพื่อต้องการให้เหยื่อแขวนลอยในลักษณะขนานเลียนแบบปลาเหยื่อในธรรมชาตินั่นเอง แต่สำหรับนักตกปลาที่ไม่ชอบความยุ่งยากในเรื่องการไปหาตะกั่วแผ่น การเปลี่ยนตัวเบ็ดที่หนาขึ้นและหนักขึ้นก็สามารถปรับความถ่วงจำเพาะของเหยื่อมิโนได้เช่นกัน
ภาพจาก www.bassdozerstore.com
       การปรับแต่งอีกแบบที่เป็นระดับแอดวานซ์ขึ้นไปอีกก็คือการปรับแต่งลิ้นของเหยื่อ การปรับแต่งลักษณะนี้โดยมากเป็นไปอย่างปรับแล้วปรับเลย คือจะทำให้เหยื่อตัวนั้นก็คืนสภาพเก่าอีกได้ยาก วิธีการที่เห็นก็มีตั้งแต่ตะไบลิ้นทิ้งไป กรอลิ้นในสั้นลง ทั้งหลายทั้งปวงนี้ก็ขึ้นอยู่กับความต้องการของนักตกปลาคนนั้นๆ แต่โดยส่วนตัวผมแล้ว ผมจะแต่งลิ้นเหยื่อก็ต่อเมื่อเหยื่อนั้นได้รับความเสียหายมาก่อน เช่นอาจจะเกิดอุบัติเหตุลิ้นหัก การกรอลิ้นก็อาจจะทำให้เหยื่อตัวนั้นสามารถนำกลับมาใช้อีกได้
       มี 4 ข้อใหญ่ที่จะทำให้นักตกปลาสามารถใช้เหยื่อมิโนได้อย่างเชี่ยวชาญก็คือ
       ต้องหมั่นตี หรือใช้เหยื่อมิโนให้บ่อย เพราะการใช้บ่อยนี้จะทำให้เราได้รู้จักแอ็คฌั่นของเหยื่อ การควบคุมความเร็วการกรอ การกะระยะเผื่อหากตกในที่มีกระแสน้ำ หรือได้เรียนรู้สัมผัสที่เกิดขึ้นกับเหยื่อส่งผ่านสายขึ้นมาถึงตัวนักตกปลา สิ่งเหล่านี้จะเรียนรู้ได้ก็ต่อเมื่อนักตกปลาได้ใช้เหยื่อนั้นจนเกิดความคุ้นชิน จึงจะสามารถควบคุมเหยื่อให้เรียร้องความสนใจจากปลาล่าเหยื่อได้เต็มสมรรถภาพของตัวเหยื่อ
       สังเกตการทำงานของตัวเหยื่อ ข้อนี้สืบเนื่องมาจากข้อที่แล้ว คือนอกจากหมั่นใช้หมั่นตีแล้ว นักตกปลาต้องหมั่นสังเกตด้วยว่า เมื่อเราใช้เหยื่อตัวนี้กับปัจจัยแวดล้อมต่างๆ เช่น ชุดอุปกรณ์ไหน ขนาดสายเท่าไหร่ สภาพน้ำแบบไหน (น้ำนิ่ง-น้ำไหล, น้ำใส-น้ำขุ่น) แล้ว เหยื่อที่ใช้นั้นเกิดแอ็คฌั่นอะไร เรียกร้องความสนใจจากปลาล่าเหยื่อได้ดีแค่ไหน ยิ่งโดยเฉพาะเมื่อใช้ในหมายที่มีสภาพน้ำใสแล้ว สิ่งที่อยากให้สังเกตมากที่สุดก็คือ ปลาฉวยเหยื่อด้วยแอ็คฌั่นอย่างไร กัดตอนหยุด หรือว่ากัดตอนกรอ กัดตอนเหยื่อกำลังลอยขึ้น หรือกัดตอนเหยื่อกำลังจม สิ่งเหล่านี้หากนักตกปลาได้สังเกตและรวบรวมไว้เป็นข้อมูลพื้นฐาน แล้วนำมาประมวลเพื่อเป็นตัวช่วยในการตัดสินใจเลือกเหยื่อในครั้งต่อไป
       ฝึกฝนการใช้เทคนิคกับเหยื่อ ดังที่กล่าวพูดถึงมาแล้วในเบื้องต้น เทคนิคต่างๆเหล่านี้นักตกปลาควรเรียนรู้จะจดจำไว้ ปลาก็เหมือนกับสิ่งมีชีวิตทั่วไป มีความอยากรู้อยากเห็น และความสามารถในการจดจำ เทคนิคเดิมๆบางครั้งก็ไม่สามารถเร้าให้ปลาล่าเหยื่อเกิดความสนใจในตัวเหยื่อได้เหมือนกัน ดังนั้นการสร้างแอ็คฌั่นที่แตกต่างก็ควรจะฝึกฝนใช้บ้าง เทคนิคหนึ่งที่นึกขึ้นได้ว่ายังไม่ได้พูดถึงในตอนนี้เลยก็คือการหย่อนสาย ด้วยเทคนิคนี้เหยื่อจะเกิดการเคลื่อนไหวที่แตกต่างออกไปอีกแบบหนึ่ง ในเหยื่อที่มีลิ้นเมื่อกรอๆแล้วเราลดคันลงหย่อนสายให้เล็กน้อย เหยื่อจะเกิดการถอยตัวเล็กน้อย ถ้าเป็นเหยื่อแบบไม่ลอยไม่จม เหยื่อจะชะงักกึ๊ก ปลาล่าเหยื่ออาจจะฉวยเหยื่อในจังหวะนี้ก็เป็นไปได้ แต่มีข้อควรระวังอยู่อย่างสำหรับเทคนิคนี้ก็คือ หากหย่อนสายเร็วเกินไป สายอาจจะขึ้นไปพันกับทิปทอป แล้วเมื่อปลาฉวยคันก็อาจจะหักได้เช่นกัน
       สุดท้ายเลยที่จะฝากไว้สำหรับศาสตร์ของการใช้เหยื่อมิโนนี้ก็คือ การกรอสายให้ช้าครับ การกรอเร็วนั้นเหยื่อจะเกิดคลื่นเสียง แต่การกรอช้าจะทำให้ปลาล่าเหยื่อระบุตำแหน่งของเหยื่อได้ มีหลายหนเหมือนกันที่การกรอแล้วหยุดไม่ได้ผล หรือการทวิตช์แอนด์เจิร์คก็บอดสนิท ถึงตอนนี้แหละ การกรอช้าๆ ช้ามากๆ ก็อาจจะทำให้ปลาไม่ลังเลที่จะเข้ากัดก็เป็นได้ ทดลองดูนะครับ

ฃอให้สนุกกับการใช้เหยื่อมิโนครับ

เอาเรื่องศาสตร์ของมิโนมาเล่าสู่กันฟังบ้าง (2)

       ในบทนี้มาว่ากันด้วยเรื่องของอุปกรณ์ที่เหมาะกับการใช้เหยื่อมิโนกันหน่อย อันที่จริงด้วยความหลากหลายของเหยื่อมิโนนี้ทำให้ ช่วงของขนาดอุปกรณ์มีความกว้างขึ้นตามไปด้วย ที่สำคัญควรเลือกคันให้เหมาะสมกับน้ำหนักของเหยื่อมิโนที่จะนำมาใช้ เน้นคันที่มีแอ็คฌั่นฟาสท์ และที่สำคัญกว่าสิ่งอื่นใดเลยคือควรเป็นชุดอุปกรณ์ที่รวมๆแล้วมีน้ำหนักเบา สบายมือสบายแขน ไม่ทำให้ล้าเพราะเกมเหยื่อปลอมเป็นเกมที่ต้องส่งเหยื่อตีสายกันทั้งวัน คันเบ็ดที่อ่อนไม่ใช่ว่าจะนำมาใช้กับเหยื่อมิโนไม่ได้ เพียงแต่เมื่อเราจะใส่เทคนิคลงไป เช่นการเจิร์คเหยื่อ การจูงเหยื่อ การสนองต่อเทคนิคเหล่านี้ คันที่อ่อนมักจะหน่วงการออกเทคนิคเหล่านี้


       สายเบ็ดที่แนะนำให้ใช้ สำหรับเหยื่อมิโนประเภทไม่ลอยไม่จม สายเบ็ดที่เหมาะสมต่อการใช้ที่สุดน่าจะเป็นสายพวกฟลูโอโรฯ เพราะสายเบ็ดนี้ ไม่ฉุดให้เหยื่อลอยหรือจมลงไปเท่าไหร่ ทำให้เราสามารถควบคุมเหยื่ออยู่ในระดับที่เราคาดหวังได้ดี แต่ถ้าใช้งานกว้างๆ สายไนล่อน หรือสายเชือกพวก PEก็พอใช้ได้อยู่เหมือนกัน



       เงื่อนที่จะใช้ผูกเหยื่อก็มีความสำคัญเหมือนกัน หากเป็นการผูกตรงโดยไม่ได้ใช้กิ๊บ เงื่อนที่มีอิสระอย่างกับเงื่อนราพาล่า จะให้ตัวเหยื่อเกิดแอ็คฌั่นที่รุนแรงกว่า แต่ถ้าเป็นเหยื่อที่มีสปริทริงใส่มาที่ห่วงลากเหยื่ออยู่แล้ว จะใช้เงื่อนยูนิน็อทก็สะดวกต่อการผูกดี



       วิธีการกรอเหยื่อมิโนนั้น นอกจากการกรอเข้ามาเฉยๆแล้ว เทคนิคSTOP & GO ก็เป็นเทคนิคที่น่าใช้ ในพื้นที่มีสภาพน้ำใส วิธีที่ผมชอบก็คือ TWITCH & JERK คือการกรอเร็วๆพร้อมกับลากปลายคันแล้วหยุดเหยื่อก่อนที่จะกระตุกข้อมือให้สะเทือนถึงปลายคัน(เจิร์ค)สัก 1-2 หน เป็นจังหวะๆแบบนี้ นอกจากนี้สำหรับพวกมิโนแบบจม บางครั้งก็จะปล่อยเหยื่อให้จมถึงพื้นแล้วก็เจิร์คสัก 1-2 หนก่อนจะกรอช้าๆสักหน่อย แล้วก็เจิร์คซ้ำอีก แบบนี้ก็ใช้ตกกะพงตามบ่อก็เคยใช้ได้ผลดีมากมาแล้ว
(โปรดติดตามในตอนต่อไป)

วันพุธที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2554

เอาเรื่องศาสตร์ของมิโนมาเล่าสู่กันฟังบ้าง (1)

       หยื่อปลอมตระกูลหนึ่งที่มักถูกหยิบใช้เมื่อถึงคราวที่อยากได้ปลาอย่างมากๆสำหรับผมก็คือ เหยื่อตระกูลมิโน (Minnow-bait) ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะว่า เหยื่อนี้มีลักษณะพิเศษเฉพาะอยู่ 3 อย่าง ก็คือ 1. เป็นเหยื่อที่รูปร่างลักษณะเหมือนกับเหยื่อที่มีในธรรมชาติมาก ลักษณะทั่วไปของเหยื่อมิโน จะมีรูปทรงเพรียวยาวคล้ายกับปลาเหยื่อที่ปลาล่าเหยื่อในเกือบทุกพื้นที่มักใช้เป็นอาหารอยู่แล้ว 2. มันเป็นเหยื่อที่มีวิธีใช้ที่หลากหลายกว้างขวาง คือจะแค่กรอเฉยๆก็เกิดแอ็คฌั่น หรือแม้แต่จะใส่เทคนิคการเจิร์ค, การหยุด ก็ยังเรียกร้องความสนใจจากปลาล่าเหยื่อได้ดี อีกทั้งยังสามารถใช้ได้ในอัตรากรอช่วงกว้าง คือ ได้ตั้งแต่เร็วมาก จนถึงกรอช้าจนเหยื่อหยุด มันจัดเป็นเหยื่อที่ปลาล่าเหยื่อเห็นแล้วจึงกัด แต่ด้วยคลื่นสั่นสะเทือนที่มันสร้างได้ บางครั้งมันก็เป็นเหยื่อที่ถูกกัดเพราะปฏิกิริยาตอบโต้ฉับพลันของปลาล่าเหยื่อเหมือนกัน 3. เมื่อเทียบอัตราเฉลี่ยของขนาดปลาที่เข้ากัด ปลาที่กัดเหยื่อตระกูลมิโนนี้ก็ยังมีขนาดเฉลี่ยใหญ่กว่าปลาที่กัดเหยื่อตระกูลพลาสติกนิ่ม ปลาเล็กมักจะกัดเหยื่อพลาสติกนิ่มอย่างไม่ลังเล ในขณะที่ปลาที่มีขนาดใหญ่มักจะเลือกกัดเหยื่อที่มีลีลาการโยกส่ายที่รุนแรงกว่า ซึ่งเหยื่อมิโนเป็นเหยื่อที่เป็นอย่างนั้น
       และด้วยความที่มิโนเป็นเหยื่อที่มีวิธีการใช้ที่หลากหลาย ในทางเดียวกันนี้เหยื่อมิโนจึงมีความหลากหลายไปด้วย เป็นต้นว่า มีเหยื่อที่ถูกออกแบบใช้งานได้ในช่วงระดับน้ำที่ต่างกัน คือ ดำตื้น กลางน้ำ และดำลึก ซึ่งนักตกปลาสามารถสังเกตได้ว่าเหยื่อมิโนตัวไหนจะทำงานในช่วงน้ำระดับใดได้จากลิ้นของเหยื่อตัวนั้นๆ ถ้าเหยื่อตัวไหนมีลิ้นสั้น เหยื่อตัวนั้นก็จะทำงานในน้ำที่ตื้น และหากเหยื่อตัวไหนมีลิ้นที่ยาวกว่าเหยื่อตัวนั้นก็จะดำลงไปในระดับน้ำที่ลึกกว่า และข้อดีข้อหนึ่งของเหยื่อลิ้นยาวก็คือ เมื่อเหยื่อดำลงไปกระทบกับหินใต้น้ำ โดยมากเหยื่อจะพลิกตัวหนีหินนั้นก่อน ถือเป็นการป้องกันการติดสวะได้ระดับหนึ่ง
       นอกจากนี้เหยื่อมิโนยังถูกออกแบบโดยเน้นที่ความถ่วงจำเพาะของเหยื่อเอาไว้ด้วย กล่าวคือเหยื่อมิโนนี้จะถูกออกแบบความลอย-จมไว้ถึง 3 อย่าง คือ แบบลอย(Floating type), แบบไม่ลอยไม่จม(Suspending type), แบบจม(Sinking type) ซึ่งนักตกปลาสามารถรู้ได้ว่าเหยื่อตัวไหนมีความลอย-จมอย่างไรได้จากเอกสารกำกับเหยื่อ หรือจากการทดสอบโดยการกรอเหยื่อเข้าระดับหนึ่งแล้วหยุดเหยื่อไว้เฉยๆ แล้วสังเกตการลอย-จมของเหยื่อนั้น ข้อดีของเหยื่อแบบลอยคือ เมื่อเหยื่อปะทะกับอุปสรรคเราเพียงหยุดกรอ เหยื่อก็จะลอยขึ้นหลีกอุปสรรคนั้น แต่ในแบบเหยื่อจม เราสามารถเช็คระดับหน้าดินได้ว่ามีความลึกระดับใด และเราสามารถส่งเหยื่อลงไปได้ถึงระดับหน้าดินได้ ส่วนเหยื่อแบบไม่ลอยไม่จมนั้น เราสามารถหยุดเหยื่อไว้ในระดับที่เรากรอเรียกความสนใจ มีลักษณะเลียนแบบเหยื่อธรรมชาติได้
       และด้วยความหลากหลายเหล่านี้ มันทำให้เหยื่อมิโนสามารถใช้งานได้ในพื้นที่เกือบทุกลักษณะ ไม่ว่าจะเป็นบ่อตกปลา, เขื่อน, หรือแม้แต่แม่น้ำที่มีกระแสน้ำไหล ส่วนในเรื่องของทัศนะวิสัยของน้ำไม่ว่าจะน้ำใสหรือน้ำขุ่น เหยื่อมิโนก็ยังสามารถเรียกร้องความสนใจจากปลาล่าเหยื่อได้ดีทั้งสิ้น
       แต่ถ้าหากเราคิดจากมุมของธรรมชาติของปลาเหยื่อ เหยื่อมิโนเลียนสภาพของปลาเหยื่อได้เหมือนมากในสภาพน้ำใส คือใช้เหยื่อแบบไม่ลอยไม่จม กรอมาเรื่อยๆแล้วก็หยุด สภาพนี้จะเลียนลักษณะทางธรรมชาติของปลาซิวได้ดี ปลาล่าเหยื่ออาจสนใจตั้งแต่ตอนที่เหยื่อเคลื่อนที่แล้วตามมากัดเมื่อเหยื่อหยุดก็ได้
       สำหรับเหยื่อมิโนลอย พื้นที่หนึ่งที่ผมมักจะเลือกใช้ก็คือ หมายที่เป็นตอไม้แนวตั้ง หรือเป็นหมายแนวสาหร่ายใต้น้ำ หมายแบบนี้ผมจะกรอเหยื่อเข้าไปเฉียดใกล้กับแนวตอไม้ แล้วปล่อยเหยื่อให้ลอยขึ้นก่อนที่จะเจิร์คเหยื่ออีกสักครั้ง แล้วค่อยกรอต่อ เช่นเดียวกันกับหมายที่เป็นแนวสาหร่าย ผมมักจะตีเหยื่อเฉียดนอกแนวสาหร่าย แล้วหากเจอช่วงที่เป็นสาหร่ายโปร่งผมจะปล่อยเหยื่อลอยขึ้น ปลาล่าเหยื่ออย่างปลากระสูบมักจะเข้าฉวยจังหวะที่เหยื่อลอยขึ้นระดับจะพ้นแนวสาหร่าย
       ส่วนในพื้นที่น้ำขุ่น สีและแรงสั่นสะเทือนจะช่วยเรียกร้องความสนใจจากปลาล่าเหยื่อ การหยุดเหยื่อจะทำให้ปลาล่าเหยื่อสามารถระบุตำแหน่งของตัวเหยื่อได้แม่ยำมากขึ้น
(โปรดติดตามในตอนต่อไป)

วันศุกร์ที่ 26 สิงหาคม พ.ศ. 2554

เคล็ด(ไม่)ลับ ของศาสตร์แห่งสปูน (3)


       ในตอนนี้ เรามาว่ากันด้วยเรื่องของลีลาทั้ง 4 ของสปูนกันเสียหน่อย อย่างที่ได้เกริ่นไว้แล้วว่า สปูนที่ถูกดีไซน์ออกมา โดยมากก็จะให้ลีลาอยู่ 4 แบบ คือ 1. ลีลากวัดไกว 2. ลีลาควงรอบตัว 3. ลีลาผสมผสานกวัดไกว+ควงรอบตัว และ 4. ลีลาลบิดตัวเป็นเลข 8 (อารบิค) ทีนี้เราจะดูอย่างไรว่าสปูนทรงไหนจะให้ลีลาอะไร
       1. ลีลากวัดไกว ลักษณะทั่วไปของสปูนที่ให้ลีลาแบบนี้ โดยมากจะมีลักษณะเป็นทรงหยดน้ำ เพียงแต่จุดลึกสุดของท้องค่อนจะชิดไปทางขอบล่าง จุดหักของลิ้นหน้าจะลึกลงมาจากหูบนเล็กน้อย สปูนลักษณะนี้ จะสร้างคลื่นน้ำความถี่ต่ำแต่มีพลังงานมากเรียกร้องความสนใจจากปลาได้ในบริเวณกว้าง เพียงแต่เมื่อใช้ต่อเนื่องไประยะหนึ่ง ปลาจะเกิดความระแวงเหยื่อ

       2. ลีลาควงรอบตัว ลักษณะทั่วไปของสปูนที่ให้ลีลาแบบนี้ โดยมากจะมีลักษณะสอบเรียวยาว ท้องตื้น ขอบข้างไม่สูงมาก ด้วยลักษณะรูปแบบนี้ สปูนจะไม่สร้างคลื่นน้ำที่แรงมากนัก เพียงแต่การควงตัวของสปูน จะเกิดเป็นแสงสะท้อนว๊อบแว้บ เป็นจุดเรียกร้องความสนใจจากปลา สปูนแบบนี้โดยมากผมจะใช้ในแหล่งน้ำไหลที่ไม่ลึกมาก เพราะมันเบามือกว่าแบบอื่นๆ

       3. ลีลาผสมผสานกวัดไกว+ควงรอบตัว ลักษณะทั่วไปของสปูนที่ให้ลีลาแบบนี้ เป็นเหมือนกับสปูนของ BFG คือ มีลักษณะรูปแบบทรงหยดน้ำ (พิมพ์นิยม) ส่วนท้องเคลื่อนมาใกล้ทางตอนกลางของตัวเหยื่อ สปูนลักษณะนี้เมื่อกรอช้าจะให้ลีลากวัดไกว แต่พอกรอเร็วขึ้นก็จะเปลี่ยนไปเป็นลีลาแบบควงรอบตัว โดยส่วนตัวผม ในการตกแบบทิ้งดิ่ง ผมจะใช้อัตรากรอความเร็วสูงก่อนในช่วงแรกที่ดึงเหยื่อขึ้นจากท้องน้ำเพื่อให้เกิดคลื่นเสียงเร้าความสนใจปลาก่อน แล้วเมื่อขึ้นมาสักระยะหนึ่งก็จะลดความเร็วการกรอลงให้เหยื่อมาแบบกวัดไกวบ้าง เพื่อให้ปลารับรู้ตำแหน่งของตัวเหยื่อที่ชัดเจน

       4. ลีลาบิดตัวเป็นเลข 8 (อารบิค) ลักษณะทั่วไปของสปูนที่ให้ลีลาแบบนี้ โดยมากจะมีลักษณะด้านบนค่อนข้างกว้าง เพื่อที่จะกินน้ำได้มาก โค้งส่วนท้องกับโค้งส่วนลิ้นจะรับความโค้งต่อเนื่องกันมา เป็นสปูนที่ต้องการการออกแบบที่ดี เพราะหากออกแบบไม่บาลานซ์จะไม่เกิดแอ็คฌั่นที่ดึงดูดปลาเลย สปูนแบบนี้จะขึ้นน้ำได้ค่อนข้างเร็ว เหมาะกับการลากในน้ำตื้น เช่นแนวสาหร่าย เป็นต้น

       ครั้งต่อไปที่ซื้อสปูน ลองสังเกตดูกายภาพของสปูน แล้วจินตนาการดูว่าสปูนจะทำงานในลักษณะใด แล้วทดสอบดูว่าเป็นเหมือนที่คิดไว้หรือไม่

ฃอให้สนุกกับการใช้สปูน

วันพุธที่ 10 สิงหาคม พ.ศ. 2554

เคล็ด(ไม่)ลับ ของศาสตร์แห่งสปูน (2)


       หลังจากที่เราได้รู้จักกับส่วนประกอบของบอดี้ของสปูนแล้ว ทีนี้ ผมอยากให้นักตกปลาได้เข้าใจถึงพลศาสตร์ของไหลที่เกิดขึ้นกับตัวเหยื่อสปูนเมื่ออยู่ในน้ำ
       เมื่อเหยื่อสปูนที่เราเหวี่ยงไปนั้นตกลงที่ผิวน้ำแล้ว เหยื่อสปูนจะพลิกเอาด้านหน้าเหยื่อลงโดยที่ท้องจะปะทะกับท้องด้านโค้ง ดันเหยื่อให้แกว่งน้อยๆแล้วก็ดิ่งลงไปตามแรงดึงดูดโลก ที่จังหวะนี้ หากเหยื่อสปูนตัวนั้นมีหาง แบบสปูน BFG แผ่นหางจะถูกแรงต้านน้ำที่ปะทะพาเอาตัวเบ็ด3 ทางนั้นพับแนบเก็บเข้ามาที่ท้องเหยื่อด้านเว้าด้วย ดังนั้นผู้ที่ใช้สปูนกับการตกแบบทิ้งดิ่งบ่อยๆจะเห็นได้ว่า เหยื่อสปูนโดยมากตอนขาลงนั้น เหยื่อจะหลบอุปสรรคได้ค่อนข้างดี แต่เหยื่อที่หลบอุปสรรคอย่างกับกิ่งไม้ได้ ก็มักจะเกี่ยวกับอุปสรรคนั้นในจังหวะที่เรากรอขึ้น
       ต่อไป เมื่อเหยื่อถูกกรอ เริ่มจากความเร็วที่ต่ำๆก่อน น้ำส่วนหนึ่งจะผ่านด้านหลังของหูบน ผ่านลิ้นไปปะทะกับท้องเหยื่อแล้วดันให้เหยื่อสไลด์ออกไปเพราะแรงต้านจนกระทั่งตัวเหยื่อพลิกหลบแรงต้านนั้นได้ แต่ก็จะเกิดแรงต้านใหม่ที่ขอบของท้องอีกด้านหนึ่งดันให้เหยื่อสไลด์ออกไปในทิศทางตรงกันข้าม มันจะสลับกันไปอย่างนี้ตลอดในการกรอที่อัตราเร็วที่สม่ำเสมอ แอ็คฌั่นการทำงานของเหยื่อแบบนี้ภาษาฝรั่งเรียกว่า Wobbling ผมขอเรียกเป็นไทยว่า "กวัดไกว" ก็เลยกัน แต่เมื่อเรากรอในอัตราที่เร็วขึ้น แรงต้านใหม่ที่เกิดขึ้นเมื่อเหยื่อสไลด์หนีแรงต้านเดิม จะไม่ได้เกิดขึ้นที่ท้องเหยื่อ แต่จะปะทะกับด้านหน้าของใบสปูน ทำให้เกิดการหมุนควงเพื่อรักษาให้ตัวเองอยู่ในศูนย์กลางของแรงดึงที่มาจากการกรอ อันนี้ภาษาฝรั่งเรียก Rolling ส่วนผมขอเรียกให้เข้าใจง่ายๆว่า "หมุนควง" นะครับ ทั้งหมดนี้เป็นการทำงานของสปูนเมื่ออยู่ในน้ำ
       แท้จริงแล้ว เป็นที่เข้าใจกันอย่างง่ายๆว่า เหยื่อสปูนจะทำงานอยู่ แบบ คือ 1. แบบกวัดไกวไปมา  2. แบบหมุนควงรอบตัว ซึ่งทั่วไปแล้วก็จะตั้งข้อสังเกตกันเป็นหลักไว้ว่า ถ้าเหยื่อสปูนตัวนั้นมีรูปทรงหยดน้ำ (พิมพ์นิยมก็จะเข้าใจเอาว่า สปูนตัวนั้นจะทำงานแบบกวัดไกวเป็นหลัก และถ้าเป็นเหยื่อสปูนทรงใบหลิว ก็จะทำงานแบบควงรอบตัว อย่างนี้เป็นต้น
       แต่ในความเป็นจริง ในการออกแบบสปูน เมื่อเราปรับตำแหน่งนู้นนิดนี่หน่อย การทำงานของสปูนก็จะมีรูปแบบผสมผสานได้ ซึ่งโดยมากก็จะได้ออกมาเป็น ลีลาก็คือ 1. ลีลากวัดไกว 2.ลีลาควงรอบตัว 3. ลีลากวัดไกวผสมกับควงตัว และ 4. ลีลาที่มาเหมือนเลข 8 (อารบิค)
       ลีลาทั้ง นี้เกิดขึ้นได้อย่างไร ผมอยากให้ทำความเข้าใจอย่างนี้ครับ เป็นต้นว่า สปูนทรงหยดน้ำ (พิมพ์นิยมนี้ ถ้าเราขยับให้ท้องเหยื่ออยู่สูงขึ้นไปทางหูบน สิ่งที่เกิดขึ้นคือ เหยื่อตัวนี้จะกลายเป็นเหยื่อที่หมุนควงได้ในอัตรากรอที่ความเร็วต่ำกว่าแบบที่ท้องเหยื่ออยู่ค่อนไปทางหูล่าง ซึ่งจะคงลีลาการกวัดไกวไว้ได้แม้จะกรอในอัตราความเร็วเท่ากัน
       ในตอนต่อไปเรามาดูกันว่า เหยื่อสปูนทรงไหน จะเกิดลีลาอะไร....

วันจันทร์ที่ 8 สิงหาคม พ.ศ. 2554

เคล็ด(ไม่)ลับ ของศาสตร์แห่งสปูน (1)

       สปูน เป็นเหยื่อปลอมที่มีมาแต่สมัยโบราณ ตามหลักฐานเก่าแก่ต่างๆที่เกี่ยวข้องกับการตกปลาก็พบว่า เหยื่อปลอมลักษณะคล้ายสปูนนี้มีอยู่ในหลายๆจุดทั่วโลก ไม่ว่าเรื่องเล่าของพวกอะบอริจิน ภาพเขียนเรื่องการประมงในแม่น้ำไนล์ หรือแม้แต่บ้านเรา ก็ยังมีศัพท์โบราณเรียกเหยื่อแบบนี้ว่า กระจาน จนกลายเป็นที่มาของชื่อเขื่อนและแหล่งตกปลาที่โด่งดังในปัจจุบัน แก่งกระจาน
       น้ำหนักและรูปทรงของสปูนนี้มีความหลากหลายมาก ตัวผมเองมีสปูนที่เบาที่สุด คือมีน้ำหนักเพียง 1 กรัม แล้วก็มีตัวที่หนักที่สุดคือหนักกว่า 1 ขีด ส่วนรูปทรงของสปูนก็มีทั้งแบบทรงหยดน้ำ (พิมพ์นิยม) และแบบทรงใบหลิว ซึ่งแต่ละแบบก็ยังมีรายละเอียดแตกต่างกันออกไปอีกในแต่ละยี่ห้อ แล้วนักตกปลาเคยรู้สึกแปลกใจไหมว่า แค่ไอ้แผ่นโลหะงอๆแบบนี้ ทำไมแต่ละแบบจึงใช้งานแตกต่างกันมากขนาดนั้น วันนี้ผมจะมาเปิดเผยศาสตร์ของสปูนกันอย่างหมดเปลือก ให้ถึงขนาดที่ว่า เพียงคุณได้สัมผัสตัวสปูน ก็สามารถเดาแอ็คฌั่นของสปูนตัวนั้นได้อย่างใกล้เคียงความจริง
       เพื่อให้เราได้เข้าใจศาสตร์การทำงานของสปูนได้ง่ายขึ้น ก่อนอื่นผมอยากให้เราได้รู้จักส่วนต่างๆของบอดี้ของสปูนกัน แผ่นโลหะที่เป็นบอดี้ของสปูนนั้นประกอบด้วย ลิ้น, ขอบ, ท้อง, หน้า, และสุดท้ายก็ หู ตำแหน่งต่างๆของส่วนประกอบเหล่านี้ จะเป็นตัวบ่งชี้ว่าสปูนตัวนั้นๆจะมีแอ็คฌั่นแบบใด
       อารัมภบทเท่านี้ก่อน แล้วตอนต่อไปมาดูกันเรื่องของการทำงานของสปูนเมื่ออยู่ใต้ผิวน้ำ

วันศุกร์ที่ 5 สิงหาคม พ.ศ. 2554

มารู้จักเหยื่อสี Chartreuse (ชาร์ทรูส) ในมุมมองของโปรญี่ปุ่น (2)

       ต่อไปโปรเซกิวะยังให้ความเห็นไว้อีกว่า สีชาร์ทรูสอย่างเดียวนั้นทำหน้าที่เพียงให้ปลาเหยื่อรับรู้ถึงการมีตัวตนของเหยื่อเท่านั้น ถ้าจะให้ได้ผลดีๆจะต้องบวกเหยื่อตัวนั้นควรจะมีสีที่เร้าอารมณ์ให้ปลาล่าเหยื่อรู้สึกอยากกัดด้วย
       เป็นต้นว่า ในน้ำใสควรใช้เหยื่อสีชาร์ทรูสตัวที่บวกกับสีธรรมชาติ และในน้ำขุ่นควรใช้เหยื่อสีชาร์ทรูสตัวที่บวกกับสีสรรที่สว่างๆ สำหรับโปรเซกิวะเอง ได้จัดลำดับเหยื่อสีชาร์ทรูสที่บวกกับสีต่างๆไว้ เหยื่อแถวบนของภาพเป็นลำดับของเหยื่อที่เหมาะสมใช้ในสภาพน้ำใส และแถวล่างของแผนภาพเป็นลำดับของเหยื่อที่เหมาะสมใช้ในสภาพน้ำขุ่น โดยไล่ลำดับสีที่เร้าอารมณ์ปลาล่าเหยื่อในระดับธรรมดาจากท้ายลูกศรไปหาสีที่เร้าอารมณ์ปลาล่าเหยื่อในระดับสูงที่หัวลูกศร


       นอกจากสภาพของน้ำจะเป็นตัวชี้ว่าควรจะเลือกใช้เหยื่อสีชาร์ทรูสที่บวกกับสีไหนแล้ว ฤดูกาลก็จะเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่เค้าจะให้ความสำคัญของสีที่มาบวก เช่น ที่ตัวบนสุดของแผนภาพนี้ ก็เป็นเหยื่อไม้ตายของโปรเซกิวะในช่วงฤดูใบไม้ร่วง ส่วนตัวกลางนี้ ก็จะเป็นเหยื่อตัวที่เขาเลือกที่จะใช้ก่อนในช่วงต้นฤดูร้อน และตัวล่างสุด เหยื่อที่มีท้องเป็นสีขาว นี่เป็นตัวที่เค้าจะเลือกใช้ทุกทีที่เจอสภาพน้ำขุ่นนิดๆ





       ท้ายสุดนี้ โปรเซกิวะยังพบว่า สีที่ให้ผลใกล้เคียงกับสีชาร์ทรูสก็คือสีขาว ดังนั้นในวันที่เหยื่อสีชาร์ทรูสไม่ได้ผล เหยื่อตัวต่อไปที่เขาจะเริ่มไล่ใช้ก็คือเหยื่อสีขาว และก็จะใช้ในเงื่อนไขเดียวกันกับเหยื่อสีชาร์ทรูส

ฃอให้ตกปลาด้วยความสนุกสนาน

วันพฤหัสบดีที่ 4 สิงหาคม พ.ศ. 2554

มารู้จักเหยื่อสี Chartreuse (ชาร์ทรูส) ในมุมมองของโปรญี่ปุ่น (1)

       ก่อนอื่นทั้งหมด ผมขอขอบคุณเพื่อนๆที่แวะเวียนไปอุดหนุนที่บู๊ธเมื่อตอนงานเปิดท้ายด้วยนะครับ ตอนนี้สปูน BFG ยังเหลืออยู่อีกนิดหน่อย หากสนใจก็สั่งซื้อเข้ามาได้นะครับ ที่ http://www.facebook.com/BFG.Lure แล้วก็ฝากเข้าไปกด ถูกใจ เข้าเป็นแฟนเพจด้วย เพื่อที่จะได้ติดตามข่าวสารและสินค้าใหม่ที่น่าสนใจในโอกาสต่อไป
       มาเข้าเรื่องของเราเลยดีกว่า ในตอนนี้ จะว่าด้วยแนวทางการใช้เหยื่อในกลุ่มสี Chartreuse (ภาษาไทยอธิบายความหมายไว้ว่า “สีโศก : สีของใบอโศก” จะเข้าใจไหมเอ่ย?) ของโปรเซกิวะ มานะบุ จากค่ายเอเวอร์กรีน มาเล่าสู่กันฟัง
       ตรงนี้ต้องขยายความสีของChartreuse ก่อนเสียหน่อย เพราะผมเชื่อว่าด้วยคำว่าสีโศกนี้คงไม่สามารถสื่อให้เข้าใจได้ง่ายนัก จะขอเพิ่มเติมคำอธิบายให้ว่าเป็นสีเขียวแบบใบไม้อ่อน คือเขียวเหลืองก่ำกึ่งกัน หรือถ้าเป็นนักตกปลารุ่นก่อนๆนึกถึงเหยื่อราพาล่าสางเขียว สีนั้นก็เป็นสีหนึ่งในหมวดสี Chartreuse นี้
เหยื่อสีชาร์ทรูส
       สำหรับโปรเซกิวะแล้วเค้ามีความเชื่ออยู่ว่า การเลือกใช้สีของเหยื่อมีผลต่อการแพ้ชนะในการแข่งขันเป็นอย่างมาก และเหยื่อสีชาร์ทรูสนี้ก็ถือเป็นไม้ตายหนึ่งที่ต้องมีติดกล่องไว้เสมอในทุกการแข่งขัน มันเริ่มจากเมื่อครั้งที่เค้าได้เห็นภาพถ่ายของเหยื่อสีนี้ที่ว่ายอยู่ในสภาพน้ำใสของทะเลสาบภาพหนึ่ง ด้วยภาพนี้ความคิดเรื่องการใช้เหยื่อสีชาร์ทรูสของเค้าก็เปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิง จากความเชื่อที่ว่า เหยื่อสีชาร์ทรูสน่าจะเปล่งแสงสว่างชัดในน้ำที่ใส แต่ภาพที่เห็นกลับกลายเป็นว่าเหยื่อถูกกลืนหายเข้าไปกับสภาพแวดล้อม จากจุดนี้เค้าจึงได้เริ่มศึกษาการทำงานของเหยื่อสีชาร์ทรูสนี้อย่างจริงจังแล้วก็พบว่า ในสภาพนั้นใส เหยื่อที่มีสีคล้ายกับธรรมชาติจะดูเด่นกว่า ส่วนเหยื่อสีชาร์ทรูสนี้ จะดูโดดเด่นขึ้นเมื่อไปใช้ในน้ำที่มีสภาพออกขุ่น ทั้งนี้ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะว่า ในน้ำขุ่นจะมีอณูของตะกอนที่แขวนลอยอยู่ในน้ำมาก แล้วเม็ดอณูเหล่านี้จะรับและสะท้อนสีของเหยื่อสีชาร์ทรูสนี้ได้ดี ทำให้เกิดกลุ่มสีขนาดใหญ่ที่แตกต่างไปจากสภาพแวดล้อม ทำให้ปลาล่าเหยื่อรู้ถึงตำแหน่งของเหยื่อได้อย่างชัดเจน
       ข้อสังเกตเรื่องสีชาร์ทรูสกับสภาพน้ำข้างต้นนี้ มันใช้ได้ดีกับเหยื่อแข็ง ไม่ว่าจะเป็นแคร้งค์เบท มิโนปลั๊ก ฯลฯ แต่เมื่อเป็นเหยื่อพลาสติกนิ่มไม่ว่าจะเป็นหนอน แมลง หรือว่ากุ้ง การมองเห็นเหยื่อในน้ำกลับโดดเด่นทั้งในน้ำใสและน้ำขุ่น ข้อนี้โปรเซกิวะอยากให้นักตกปลาจำเป็นพื้นฐานไว้


ฃอให้ตกปลาด้วยความสนุกสนาน

วันอังคารที่ 26 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

ฃอแอบพูดถึงของที่หิ้วไปขายวันเสาร์นี้หน่อยนะ...

       นอกจากสปูน BFG ที่นำไปขายแล้ว ผมก็ยังปัดๆรื้อๆเอาของรักของหวงออกมาอีกจำนวนหนึ่ง ส่วนใหญ่เป็นของสะสมที่เห็นว่าเก็บไว้ก็คงไม่ได้ใช้ ก็เลยเอาไปจำหน่ายให้สมกับคำไทยที่ว่า "สมบัติ ผลัดกันชม"



       แรกสุด ฃอเสนอรอกเบทฯขนาดใหญ่ ที่จริงก็น่าจะเป็นรอกใช้ในงานทะเลมากกว่า แต่ก็ไม่มีปุ่มสัญญาณเสียงเตือนปลากิน ในวันนี้ก็ขึ้นทำเนียบของสะสมไปแล้วเรียบร้อยโรงเรียนฝรั่ง รอก Bantam 2000L



       ต่อมาก็เป็นเหยื่อคลาสสิคอีกชุด ที่มีทั้งความเข้มขลังคลาสสิค แล้วก็ยังสามารถใช้งานได้จริงอีกต่างหาก 4 ตัวนี้ รอคุณมาเป็นเจ้าของครับ



       ท้ายสุดที่เสนอให้กับคุณๆในวันนี้ เหยื่อปลอมจากสำนักดัง เมก้าแบส ชุดนี้นำเสนอ 3 ซีรี่ยส์ครับ
       ตัวแรก แอนแทร็กซ์ เหยื่อรูปปลาหงายท้อง หากคุณเป็นคนรักชอบเมก้าแบส นี่เป็น 1 ตัวที่ไม่ควรพลาด




       ต่อไป เหยื่อกบ แอคฌั่นดี ลีลาเร้าใจปลาล่าเหยื่อ สรรพคุณสมราคา





       สุดท้ายของท้ายสุด หนึ่งในซีรี่ยส์เรือธงของเมก้าแบส กริฟฟอน ซีโร่ สวยงามสมคำล่ำลือ







       อย่าพลาดครับ แล้วไปเจอกันที่งานเปิดท้าย 2 เสาร์นี้ครับ

วันจันทร์ที่ 25 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

ผ้าเนื้อเย็น อยู่กลางแดดก็ไม่ร้อน!!!

       สินค้าอย่างหนึ่งในร้านอุปกรณ์กีฬาในญี่ปุ่นที่สะดุดหูสะดุดตาผมเป็นอย่างมากก็คือ เสื้อผ้าเพื่อการเล่นกีฬาที่เหมาะสมกับกีฬานั้นๆ ที่เห็นมากๆเลยก็เป็นชุดของนักกีฬาเบสบอล ผมไม่ได้ชอบดีไซน์ของชุดเบสบอลหรอกครับ แต่สิ่งที่ทำให้ผมสนใจเป็นพิเศษก็คือ เทคโนโลยีของผืนผ้าที่นำมาทำชุดกีฬา คือมีชุดที่ใส่แล้วอบอุ่นไว้ใช้ในหน้าหนาว แล้วก็มีชุดที่ใส่แล้วเย็นสบายที่ไว้ใช้กันในหน้าร้อน ซึ่งสำหรับภูมิอากาศแบบบ้านเราแล้ว ชุดที่ใส่แล้วเย็นสบายนี่ดูจะน่าสนใจไม่น้อยเลยนะครับ
       ผมก็เลยศึกษาดูว่าอะไรที่ทำให้ผ้าเนื้อเย็นนี้สวมใส่แล้วรู้สึกเย็นสบาย แล้วก็พบว่า เค้าก็เพียงแค่ตัดปัจจัยที่ทำให้รู้สึกร้อนออกไป ซึ่งปัจจัยหลักๆที่ทำให้เรารู้สึกร้อนก็ได้แก่รังสีUV หรือแสงเหนือม่วง เจ้านี่เป็นรังสีที่มีความเข้มข้นสูงและมีอำนาจทะลุทะลวงได้ดี แล้วเจ้ารังสีUV นี่แหละครับที่แผดเผาให้ผิวเราไหม้เกรียมและแสบร้อน เส้นใยที่มาถักทอผ้าเนื้อเย็นนี้ได้ถูกออกแบบมาให้ปกป้องผู้สวมใส่จากรังสีUV ชนิดต่างๆได้ แล้วอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เรารู้สึกร้อบอบอ้าวในเสื้อกีฬาก็คืออุณหภูมิจากร่างกายเรานี่แหละครับ ร่างกายเรามีอุณหภูมิเฉลี่ย 37C แล้วก็คายความร้อนออกมาตลอดครับ เสื้อผ้าที่สวมใส่แล้วทำให้เรารู้สึกเย็นสบายก็ต้องมีความสามารถในการระบายความร้อนส่วนนี้ได้ด้วยครับ ซึ่งผ้าเนื้อเย็นก็ทำหน้าที่นี้ออกมาได้ดี
       ตอนแรกก็ตั้งใจจะซื้อมาลองใส่ตกปลาดูเหมือนกันแหละครับ แต่ก็ติดตรงที่ดีไซน์ที่ถูกออกแบบมาเพื่อเบสบอล หรือไม่ก็สำหรับขี่จักรยาน ซึ่งก็ดูแล้วไม่ค่อยจะเป็นเราเท่าไหร่ แต่ที่สำคัญกว่านั้นสนนราคาของเสื้อผ้าพวกนี้ในญี่ปุ่นนี่ไม่เบาเลยนะครับ ตังนึงๆก็ราคาเกือบๆ 3000 บาทเลยทีเดียว
       แต่แล้วก็ได้มาเจอกับ Gett-it! ที่ผลิตเสื้อผ้าเนื้อเย็นออกมาเพื่อนักตกปลาโดยเฉพาะ เพราะผู้ผลิตก็เป็นคนตกปลาเหมือนกับเราๆนี่แหละครับ ก็เลยเข้าใจความต้องการของเราอย่างดี เสื้อของ Gett-it! ผลิตขึ้นจากผ้า Coolfeel ซึ่งมีคุณสมบัติป้องกันรังสีUV ได้ถึงระดับ UPF 50+ คือ ป้องกันรังสี UV A และUV B ได้ 98 % นอกจากนี้ ผ้าCoolfeel ของ Gett-it! นี้ ยังสามารถระบายความร้อนที่เกิดจากอุณหภูมิร่างกาย และความคุมการระบายไอเหงื่อ ทำให้ผู้สวมใส่รู้สึกสบายไม่เหนอะหนะ และที่สำคัญที่สุด สนนราคาย่อมเยาสบายกระเป๋าเป็นอย่างยิ่ง จ่ายแบงค์พันหนึ่งใบได้แบงค์ร้อยทอนกลับมาอีกหลายใบ น่าสนใจไม่น้อยใช่ไหมครับ ยิ่งไปกว่านี้ ดีไซน์ของเสื้อที่ออกแบบมาเพื่อนักตกปลาโดยเฉพาะ ใส่แล้วไม่ดูประดักประเดิดเหมือนเอาเสื้อขี่จักรยานมาใส่ตกปลา Gett-it! ให้เราได้มากขนาดนี้ ต้องลองครับ
       พบกับGett-it! ได้ที่งานเปิดท้ายฯในวันที่ 30 กรกฎาคม นี้ และตามร้านอุปกรณ์ตกปลาชั้นนำทั่วไป

วันศุกร์ที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

หายไปเตรียมตัวขายของงานเปิดท้ายฯ

       เป็นเด็กดีหลังจากที่เกเรไปได้ไม่นาน ความเกเรก็กลับมาเยือนอีก ห่างหายไปเกือบอาทิตย์ ไม่ได้เลิกเขียนนะครับ แต่พอดีว่า ในสิ้นเดือนนี้ เค้าจะมีงานเปิดท้ายขายของพวกอุปกรณ์ตกปลา ของรักของหวงกันที่วงเวียนใหญ่ ซึ่งตัวผมก็ให้พอดีว่าไปเจอของเก่าๆที่มีอยู่ก็เลยคิดว่าจะเอาไปขายบ้าง
อัลบั้มภาพตกปลาด้วยสปูนBFGยุคแรก
       ของเก่าๆที่ว่านี้ก็เห็นทีจะเก่าจริงอยู่ เพราะเป็นเหยื่อที่ผมสร้างทำขึ้นมากว่า 15 ปีแล้วเห็นจะได้ ในสมัยนั้นเกมส์ตกปลาด้วยเหยื่อปลอมก็ยังมีตัวเลือกไม่มากนัก ไม่ว่าจะเป็นคัน รอก แล้วก็เหยื่อ แล้วถ้าพูดถึงเหยื่อตกปลากระสูบ ส่วนใหญ่ของนักตกปลาก็จะนึกถึง “สปูน” กันก่อนเป็นอันดับต้นๆ ซึ่งโดยส่วนตัวแล้วผมเองก็ถือเป็นนักตกปลาจำพวกนี้ ผมจึงคิดทำเหยื่อตกปลากระสูบที่ผมต้องการขึ้น โดยมีคอนเซปป์อยู่ว่า เหยื่อต้องมีน้ำหนักที่พอควรเพื่อการส่งเหยื่อออกไปได้ง่าย การจมตัวควรมีการร่อนส่ายเพื่อเร้าความสนใจ การเกิดแอ็คฌั่นของเหยื่อเกิดขึ้น 2 รูปแบบคือ หากกรอช้าเหยื่อจะมาแบบร่อนส่าย แต่เมื่อกรอในอัตราที่เร็วขึ้นเหยื่อก็จะหมุนควงในความกว้างที่เหมาะสม เมื่อได้คอนเซปป์ที่ชัดเจนแล้ว ผมก็เริ่มต้นการออกแบบและทดลองทำออกมาเป็นตัวขึ้น แล้วก็ออกมาเป็นเหยื่อสปูนอย่างที่เห็นในภาพนี้แหละครับ

       สำหรับเหยื่อที่จะเอาไปขายในงานเปิดท้ายฯครั้งนี้ เป็นเหยื่อที่จัดทำขึ้นเป็นล็อตสุดท้ายเมื่อราว 10 ปีที่แล้ว โดยผลิตบอดี้เหล็กขึ้นมาเพื่อที่จะง่ายต่อการทำสี และมีต้นทุนที่ต่ำลง แต่ก็ต้องทำความเข้าใจว่า เมื่อเป็นเหล็กมันก็ง่ายต่อการเป็นสนิมนะครับ เอามาขายกันในราคาเดิมครับ มีเหลืออยู่ไม่มาก แล้วหากซื้อเป็นชุด(5ตัว) ก็จะขายให้ในราคาพิเศษอีกด้วย
บอดี้แสตนเลสจะอยู่ในแผงสีแดง
บอดี้เหล็กจะอยู่บนแผงสีบานเย็น



       พิเศษอีกนิด เมื่อตอนที่ไปรื้อสต๊อคมา ได้เจอเหยื่อแสตนเลสรุ่นพิมพ์กลับด้วย คือ ลายกราฟฟิค BFG อยู่ที่ด้านท้องของเหยื่อแทนที่จะอยู่ด้านหลัง อันนี้มีไม่มากครับ ราคาตั้งขายเท่ากันกับรุ่นออริจินอลเนื้อแสตนเลส แล้วก็มีจัดเป็นชุด 3 ตัว 3 สี ออกมาขายในราคาเป็นพิเศษอีกด้วยครับ




       นอกจากเหยื่อสปูนแล้วในงานนี้ ผมจะเอาของรักของหวงบางส่วนมาแบ่งให้เพื่อนๆในราคาที่น่าสนใจอีกด้วยครับ พบกันในงานนะครับ รายละเอียดที่ http://www.siamfishing.com/content/view.php?id=3528&cat=info
       แล้วก็ขอฝากอีกนิด สำหรับเว็บเพจของBix Fishing Gears ขอให้ช่วยกันเข้าไปกดถูกใจกันหน่อยคร้าบ ขอบคุณมากๆๆ 

วันพุธที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

เทคนิคพื้นฐานการใช้เหยื่อผิวน้ำจากLure Magazine ฉบับเดือนนี้3

       ไม่พูดพล่ามทำเพลงอะไร ฃอต่อเรื่องจากเมื่อวานกันเลยก็แล้วกัน
       นอยซีย์ เหยื่อตระกูลนี้ ก็เป็นเหยื่อปลอมอีกอย่างที่ยั่วปลาให้เกิดความก้าวร้าว ตัวเหยื่อจะกวาดน้ำหรือใช้ใบโลหะสร้างเสียงที่ปลาล่าเหยื่อรำคาญ แล้วพุ่งเข้ากัดไล่เหยื่อ ไม่ค่อยได้เห็นนักตกปลาบ้านเราจะใช้กันเท่าไหร่
       เหยื่อนอยซีย์ แบ่งออกตามความเร็วการสร้างแอ็คฌั่นก็จะได้แบบเคลื่อนที่ช้ากับแบบเคลื่อนที่เร็ว(ไม่มาก) พวกเคลื่อนที่ช้าก็จะเป็นเหยื่อจิตเตอร์บั๊ก แผ่นต้านน้ำด้านหน้าจะกวาดน้ำให้เหยื่อส่ายตัวซ้าย-ขวาในช่วงแคบๆ เหยื่อเคลื่อนที่ช้าอีกอย่างคลอว์เลอร์ ปีกซ้าย-ขวาที่ด้านข้างจะทำหน้าที่เดียวกับแผ่นต้านน้ำ แต่คลอว์เลอร์จะส่ายตัวได้กว้างกว่า เหยื่อพวกนี้ขอให้กรอช้าๆเฉยๆก็จะเป็นแอ็คฌั่นแล้ว ส่วนเหยื่อนอยซี่ย์อีกแบบที่กรอได้เร็วกว่าพวกแรกก็คือเหยื่อปลั๊กพ่วงใบโลหะ เมื่อกรอเหยื่อนี้ เหยื่อจะส่ายไปมาที่บริเวณผิวน้ำ ใบโลหะที่ด้านท้ายก็จะตีกับน้ำเกิดเป็นเสียงที่น่าโมโหสำหรับปลา
       ฟร๊อก ด้วยความที่เป็นเหยื่อที่ตัวเบ็ดถูกวางไว้ในตำแหน่งหลบสวะได้ดีเยี่ยมจึงทำให้ฟร๊อกเป็นเหยื่อที่เหมาะต่อการลุยในพื้นที่รกหนา



       เหยื่อฟร็อก เหมาะต่อการใช้ตกช่อนในบ่อสลิด เพราะบ่อสลิดเป็นพื้นที่ที่มีอุสรรคมาก จุดเล็งที่สำคัญมี 2 แบบ คือ โยนผ่านขึ้นไปบนอุปสรรคก่อน เช่น ใบบัว กอหญ้า แล้วลากเหยื่อลงมาที่จุดว่างระหว่างใบบัว อีกแบบหนึ่ง คือ ลากแบบจูงหมาเดินตรงช่องว่างระหว่างอุปสรรค
       เซอร์เฟซ แคร้งค์ โดยรูปทรงอาจจะดูไม่เหมือนเหยื่อผิวน้ำสักเท่าไหร่ แต่หากได้เคยลองใช้ จะเห็นได้ว่า เหยื่อแคร้งค์แบบนี้ จมลงไปจากผิวน้ำไม่มากคือประมาณ 1 นิ้วเท่านั้น

       เหยื่อเซอร์เฟซ แคร้งค์ จะสร้างคลื่นน้ำตามตัวเหยื่อเป็นรูปตัว V และข้อพิเศษของเหยื่อนี้อีกอย่างคือสามารถใช้ปลายคันควบคุมทิศทางของเหยื่อได้ง่ายมาก
       แมลง สำหรับฤดูร้อนของที่ญี่ปุ่น เหยื่ออีกอย่างที่ใช้ได้ผลมากก็คือเหยื่อที่เลียนแบบจากแมลง ในฤดูนี้แมลงมากมายจะออกสืบพันธุ์ แมลงบางส่วนก็จะร่วงหล่นจากต้นไม้ลงบนผืนน้ำ กลายเป็นอาหารปลาไป



       เหยื่อแมลง จำลองลักษณะของแมลงที่ตกลงบนผิวน้ำ ดังนั้นจึงไม่ใช่เหยื่อที่เคลื่อนที่ช้าถึงช้ามาก เพียงเขย่าปลายคันเบาๆเมื่อเหยื่อตกลงถึงผิวน้ำ พู่ขนที่ทำหน้าที่เทียมขาของแมลง จะสร้างคลื่นมากมายที่ผิวน้ำดึงดูดให้ปลานิยมแมลงทั้งหลายของลิ้มลอง เหมาะที่จะใช้กับหมายใต้ต้นไม้เป็นอย่างมาก




       สำหรับ topwater basic ใน Lure Magazine ฉบับนี้ ก็เล่าเรื่องมาถึงตรงนี้ ดังนั้นผมเองก็ขอจบเรื่องลงแต่เพียงเท่านี้เหมือนกัน

ฃอให้ตกปลาด้วยความสนุกสนาน