วันศุกร์ที่ 8 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

ลองมาจดจดบันทึกปูมตกปลากันดูดีไหม?

       คุณเคยตั้งเข้าสังเกตไหมว่า ระหว่างไต๋เรือที่ได้ชื่อว่าเก่ง กับไต๋เรือธรรมดาๆต่างกันตรงไหน? ไต๋เรือที่เก่งก็คือ เป็นไต๋เรือที่นอกจากเข้าหมายได้เงียบแล้ว ต้องมีความแม่นหมาย เดาทางปลาได้ถูกว่าปลาน่าจะไปอยู่ที่ไหน สิ่งเหล่านี้เกิดได้จาก ประสบการณ์และการจดจำ และอาจรวมถึงสัญชาตญาณของไต๋คนนั้นๆด้วย
       แต่เชื่อไหมว่า เราเองก็สามารถสร้างสัญชาตญาณแบบเดียวกันนี้ได้เหมือนกัน หากแต่เพียงเราได้รู้จักการทำปูมบันทึกไว้ ก็จะกลายเป็นการใช้ประสบการณ์จริงมาต่อยอดกับความรู้พื้นฐานที่มี ซึ่งจะเป็นเครื่องช่วยให้เรารู้ทันปลา และเดาทางปลาได้ถูกไม่ต่างจากนักตกปลามืออาชีพหรือไต๋เรือที่โด่งดังทั้งหลาย
       เนื้อหาของปูมบันทึกจดอะไรบ้าง?
       สิ่งที่ควรจดลงในปูมนี้เริ่มกันตั้งแต่ตอนที่จัดเตรียมอุปกรณ์เลย จดไปว่า เราได้ใช้อุปกรณ์ชุดไหน สภาพก่อนใช้มีความพร้อมใช้แค่ไหน เช่น คันเบ็ด ก็ดูที่สภาพทั่วไป ไกด์ รีลซีท, รอก ความลื่น เบรกเนียนดีหรือไม่, สายสภาพเป็นกี่ % ฯลฯ เอาไปกี่ชุดก็จดไว้ทุกชุด
       ต่อไปก็มาจดข้อมูลทั่วไปของวันตกปลา เช่น วันที่, เวลาเริ่มตกปลากี่โมง ตกปลาถึงกี่โมง, จังหวะกินดี กี่โมงถึงกี่โมง,น้ำขึ้นสูงสุด-ต่ำสุดกี่โมง, ไปกับเรือลำไหน, ไต๋ชื่ออะไร ฯลฯ
       ในแต่ละหมายที่ไปก็จะจดพิกัดตำแหน่งหมาย, บันทึกสภาพอากาศ, อุณหภูมิอากาศ, อุณหภูมิน้ำ, ตอนนั้นเป็นน้ำขึ้น หรือน้ำลง, สภาพน้ำขุ่น-ใส, ทิศทางลม ฯลฯ
       ท้ายสุด เกี่ยวกับปลาที่ได้ เดี๋ยวนี้มีกล้องดิจิตอลก็ช่วยได้มาก จดหมายเลขรูปถ่ายของปลาที่ได้ในหมายนั้นๆ, จดเหยื่อที่ใช้, และท้ายสุดจดความประทับใจที่เกิดขึ้น
       หากเพียงนักตกปลาได้ทำการจดปูมแบบนี้ เพียงแค่สัก 10 ครั้ง นักตกปลาก็จะเห็นความพัฒนาการการตกปลาที่เปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น ลองทำดูสิครับ...

ฃอให้ตกปลาด้วยความสนุกสนาน... 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น