วันจันทร์ที่ 6 กันยายน พ.ศ. 2553

สายเบ็ด สายใยเชื่อมเรากับปลา...

       ก่อนอื่น ต้องขอขอบคุณเวบไซต์แสมสารอย่างมากๆเลย ที่กรุณาขึ้นแบนเนอร์เวบบล็อกนี้ ก็หวังว่าเพื่อนๆคงได้ความรู้ไปบ้างนะครับ ทางผมก็จะพยายามหาเรื่องราวมาเผยแพร่ไปเรื่อยๆนะครับ


       เอามาต่อเรื่องต่อไปกันดีกว่า หมายปลาก็บอกแล้ว เหยื่อก็บอกแล้ว ตัวเชื่อมก็บอกไปแล้ว มาตอนนี้ เอาเรื่องสายเบ็ดก็แล้วกั
      สายเบ็ด ถือเป็นอุปกรณ์ที่มีความสำคัญที่สุดอย่างหนึ่งเหมือนกัน เพราะสายเบ็ดเป็นอุปกรณ์ที่เชื่อมต่อระหว่างเรากับปลาเพียงอย่างเดียวตราบเท่าที่ปลายังไม่เข้ามาอยู่ในสวิงหรือเครื่องมือช่วยอื่นๆ
       ดังนั้น เราจึงควรให้ความสำคัญกับสายเบ็ดให้มากทีเดียว แต่ทว่าในตลาดก็มีสายเบ็ดออกมาหลายต่อหลายอย่างเสียเหลือเกิน ไม่รู้จะเลือกใช้อย่างไรดี
       เพราะฉะนั้น จึงอยากให้เราทำความรู้จักกับสายเบ็ดและวิธีการใช้กันบ้าง
       คุณสมบัติของสายเบ็ดที่ดี ไม่ว่าจะทำจากวัสดุหรือผ่านกรรมวิธีแบบใดมา ก็ควรมีความทนแรงดึงที่เท่ากันตลอดทั้งเส้น สายเบ็ดที่มีราคาสูงจะได้รับการเอาใจใส่ในขั้นตอนการผลิตเป็นอย่างดี ถึงขนาดควบคุมความต่างของเส้นผ่านศูนย์กลางของสายตลอดความยาวของสายเบ็ด
       ส่วนวิธีใช้สายเบ็ดนั้น สำหรับในการตกปลานี้ก็จะใช้ในประโยชน์หลักๆอยู่ 2 อย่าง คือ ใช้เป็นสายเบ็ดหลัก คือสายที่บรรจุอยู่ในรอก กับใช้เป็นสายหน้า หรือว่าลีดเดอร์
       สายเบ็ดที่เป็นสายหลักนี้ ก็จะมีอยู่หลายแบบหลายประเภท แต่แบ่งออกเป็นประเภทใหญ่ๆ ออกเป็น 2 อย่าง คือ สายเส้นเดี่ยว หรือ โมโนฟิลาเมนท์ กับสายถัก หรือ เบรด
       สำหรับสายเส้นเดี่ยวที่มีในท้องตลาดอยู่มากที่สุดก็คือ สายไนลอน ด้วยเทคโนโลยีในปัจจุบัน สายไนลอนได้รับการพัฒนาไปมาก โดยมีการผสมกับเคมีอื่นๆ เกิดเป็นโครงสร้างเส้นใยใหม่ๆที่เป็นไปตามความต้องมากขึ้น 
       โดยส่วนตัว ผมมักจะใช้สายไนลอนนี้กับเกมส์ที่พื้นน้ำไม่มีอุปสรรคมากนัก หรือใช้กับเกมส์สายเล็กเช่นสาย 2-4 ปอนด์ เพื่อตกปลาเกล็ดตามบ่อ ก็จะได้อรรถรสความสนุกสนานไปอีกแบบ
       สายเส้นเดี่ยวอีกอย่าง ที่ได้รับความนิยมอยู่มากในขณะนี้ ก็เห็นจะเป็นสายฟลูโอโร-คาร์บอน สายฟลูโอโร-คาร์บอนนี้ คุณสมบัติพิเศษที่ทางผู้ผลิตมักจะใช้เป็นจุดขายเสมอๆก็คือ เมื่ออยู่ในน้ำ สีสันของสายฟลูโอโร-คาร์บอน จะกลืนไปกับความใสของน้ำ น่าจะทำให้ปลามองไม่เห็น จึงเหมาะต่อการใช้ตกปลาพวกที่มีความระแวงภัยสูงๆ
       คุณสมบัติเด่นอีกประการหนึ่งก็คือ สายฟลูโอโร-คาร์บอน นี้ เมื่อเทียบกับสายไนลอนทั่วไปแล้ว จะมีความทนแรงดึงที่สูงกว่าในสายที่มีขนาดหน้าตัดเท่ากัน ดังนั้นจึงเหมาะกับเกมส์ที่ต้องการอุปกรณ์ที่มีน้ำหนักเบา เพราะที่ปริมาตรความจุที่ไม่มากก็จะสามารถจุสายได้ยาวขึ้น
       สายเบ็ดแบบถัก แต่เดิมเราจะรู้จักสายเบ็ดแบบถักที่ไว้ใช้กับงานทรอลลิ่งในทะเลที่เรียกว่า สายเดคครอน แต่ในปัจจุบันนี้จะพบเห็นสายเดคครอนในหน้าที่นั้นน้อยมาก เพราะในตลาดอุปกรณ์ตกปลาได้เกิดสายเบ็ดที่มีคุณสมบัติที่เหนือกว่าสายเดคครอนขึ้นมาแทน นั้นก็คือ สายไดนีม่า 
       สายไดนีม่านี้ แต่เดิมว่ากันว่าถูกสร้างมาเพื่อวัตถุประสงค์การประมง ไว้สำหรับการสร้างอวน แห แต่ทว่า วันหนึ่งได้นำมาทดลองใช้กับการตกปลา และเห็นถึงคุณสมบัติที่ดีกว่าสายเบ็ดแบบเดิมๆ จึงเกิดการยอมรับ และถูกนำมาใช้สำหรับการตกปลาเพื่อการกีฬามากขึ้น
       แต่สายไดนีม่าก็ยังมีข้อจำกัดของคุณสมบัติสายเบ็ด คือ ยังมีความกระด้าง ไม่ค่อยพริ้วไหว แล้วยังมีความคมอยู่มากเมื่อใช้มือไปดึงสายที่ติดกับอุปสรรค
       แต่ขึ้นชื่อว่ามนุษย์แล้ว ปัญหามีไว้แก้ไข เมื่อสายไดนีม่าไม่สามารถตอบสนองความต้องการได้รอบด้าน จึงได้มีการนำเอาวัสดุอื่นๆมาถอสานเป็นเส้นใยเพื่อใช้สำหรับการตกปลานี้ แล้วในที่สุดก็เกิดเป็นสายที่เรียกกันว่า สายพีอี ขึ้น
       ในปัจจุบัน สายพีอี ก็ได้รับการต่อยอดมาเรื่อยๆ จากการควั่นประสานระหว่างสายใย 4 เส้น ในปัจจุบันนี้ก็มีแบบ 8 เส้น และมากกว่า สายพีอีที่มีเส้นใยประสานที่มาก ก็จะเป็นสายที่มีความอ่อนนุ่ม และยังคงคุณสมบัติเด่นเรื่องการยืดตัวได้ต่ำได้ครบถ้วน การยืดตัวต่ำจะทำให้การตวัดย้ำเบ็ดเป็นไปอย่างทันทีทันใดมากขึ้น
       สำหรับสายเบ็ดที่กล่าวไปทั้งหมดนี้ นอกจากจะใช้เป็นสายเบ็ดหลักแล้ว หากจะใช้เป็นสายลีดเดอรืบ้างก็ไม่ถือว่าผิดกติกาแต่อย่างใด หากแต่ว่า สายเบ็ดถักมักจะไม่เหมาะต่อการนำไปใช้กับปลาที่มีแผงฟันที่หยาบคม เพราะว่าสายเบ็ดแบบถักนั้นจะประกอบไปด้วยเส้นใยเล็กๆจำนวนมัก แผงฟันที่หยาบคมของปลาพวกนี้ จะเป็นเสมือนตะไบที่คอยถูไถให้เส้นใยเล็กๆเหล่านี้ขาดไปทีละเส้นๆ จกระทั่งสายลีดเดอร์ที่ใช้นั้นสูญเสียความทนต่อแรงดึงแล้วก็ขาดไปในที่สุด
       ดังนั้นเพื่อแก้ปัญหาแผงฟันที่หยาบคมถูกับเส้นใยเล็กๆของสายถัก สายเอ็นเส้นเดี่ยวขนาดใหญ่ จึงเป็นคำตอบของปัญหานี้ อีกทั้งยังช่วยลดแรงสะท้อนเฉียบพลันที่เกิดจากการยืดตัวต่ำของสายถักเมื่อเราตวัดย้ำเบ็ดอย่างรุนแรง ซึ่งจะเป็นสาเหตุการระเบิดของคันที่รับแรงกระทำดีๆอย่างคันที่ผลิตจากกราไฟท์เป็นต้น สายแบบนี้ จึงมีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า ช็อค ลีดเดอร์ 
       วิธีใช้ เราจะต่อสายช็อคลีดฯเข้ากับสายเบ็ดหลักที่เป็นสายถักด้วยลูกหมุน หรือเงื่อนต่อสายก็ได้ ใช้ความยาวประมาณหนึ่งศอกหรือยาวกว่านั้นหากไปตกปลาที่หางมีความคมเช่นปลากระมงพร้าว 
       แล้วถ้าบังเอิญคุณไปเจอผมก้มๆเงยๆตามบ่อตกปลากะพงอยู่หล่ะก็ ก็ให้สัญนิษฐานไว้ก่อนเลยว่า ผมกำลังหาช็อคลีดฯใช้อยู่ แล้วเจอกันครับเวบไซต์แสมสาร

1 ความคิดเห็น: