วันศุกร์ที่ 17 มิถุนายน พ.ศ. 2554

ระวัง! คันเบ็ดของคุณอยู่ในความเสี่ยงหรือไม่?

       ความประมาทเป็นต้นเหตุของความเสียหาย คำนี้เป็นคติที่ผมจำขึ้นใจ และผมก็ใช้คตินี้กับทุกกิจกรรมที่ผมทำในกิจวัตร และแน่นอนว่าแม้แต่เรื่องของการตกปลาก็ไม่ได้เว้นข้อนี้
       ในบทนี้ ก็ขอเสนอข้อควรระวังเรื่องการใช้คันเบ็ดกันสักหน่อย เมื่อแรกๆที่เริ่มตกปลาผมยังเห็นบทความแบบนี้ตีพิมพ์ในนิตยสารในวงการของเราอยู่บ่อย แต่ในหลายปีมานี้ผมกลับไม่ค่อยเห็นบทความที่เตือนเรื่องอุบัติเหตุทำนองนี้สักเท่าไหร่ ดังนั้นหลังจากที่รื้อค้นเจอภาพชุดนี้ก็เลย เกิดอาการ "เอาสักหน่อยก็แล้วกัน" หากนักตกปลาคนไหนรู้อยู่แล้วก็ให้ถือเสียว่าเป็นการย้ำเตือนเสียก็แล้วกัน

       ภาพแรกนี้ก็เป็นภาพอุบัติเหตุที่จะเกิดขึ้นกับคันเบ็ดของเราภายในบ้าน คันเบ็ดตกปลาของพวกเรานั้นโดยมากก็เป็นคันเบ็ดที่ยาว และไอ้เจ้าความยาวนี่แหละที่เมื่อเรากวาดคันเบ็ดไปมาในบ้านอย่างไม่ระวังแล้ว โอกาสที่คันเบ็ดจะไปฟาดโดนนั้นโดนนี่ภายในบ้านเราก็มีมาก ในรูปแสดงแค่เพียงความเสียหายที่เกิดขึ้นกับคันเบ็ดอย่างทันท่วงที แต่ในความเป็นจริง คันเบ็ดนั้นอาจจะยังไม่หักเลยเดี๋ยวนั้น แต่อาจจะไปหักเอาตอนใช้งาน ซึ่งบ้างทีก็อาจจะทำให้เสียโทรฟีหนึ่งเดียวในชีวิตของเราก็เป็นได้ อีกอย่างถึงแม้ความเสียหายจะไม่ได้เกิดขึ้นที่คันเบ็ด แต่การที่คันเบ็ดไปเขี่ยโดนของตกหกร่วง หากแตกหักไปก็เป็นความเสียหายอีกเหมือนกัน

       ชุดภาพต่อมา เป็นชุดภาพของอุบัติเหตุที่อาจเกิดขึ้นได้ในระหว่างการตกปลา "เหวี่ยง วัด อัด เย่อ" ไม่ว่าจะอยู่ในอิริยาบทใดก็ตาม หากใช้คันเบ็ดไม่ถูกวิธี โอกาสที่ความเสียหายจะเกิดขึ้นแก่คันเบ็ดล้วนแล้วแต่มีโอกาสเกิดขึ้นได้ทั้งสิ้น
       อย่างในภาพนี้ ทางด้านขวาของภาพ เป็นภาพในขณะที่เหวี่ยงเหยื่อ หากเราไม่ระมัดระวังให้ดี ตัวเบ็ดของเราอาจไปเกี่ยวเข้ากับอุปสรรคแล้วด้วยแรงหวดสุดแรงก็อาจทำให้คันเบ็ดหักสะบั้นลงได้ หรือในอีกมุมหนึ่ง หากที่ตัวเบ็ดไปเกี่ยวเข้าเป็นเพื่อนร่วมทริปหรือเป็นนายท้ายคู่ใจแล้วล่ะก็ ความเสียหายอาจจะมากกว่าแค่คันเบ็ดหักนะครับ
       ต่อมาทางด้านซ้ายของภาพ การยกคันเบ็ดทำมุมชันมากเกิน โอกาสที่คันเบ็ดหักก็จะมีสูงมาก โดยปกติ ตำราว่าไว้ว่าคันเบ็ดไม่ควรทำมุมงัดเกิน 70 องศา หากเกินไปกว่านั้น คันเบ็ดนั้นก็มีความเสี่ยงที่จะหักสูงขึ้น

       ภาพต่อมาเป็นภาพการอัดปลา ในภาพแสดงถึงการตกปลาจากบนเรือ แต่จังหวะแบบนี้เราพบเห็นได้บ่อยตอนที่ตกปลาบึกที่บึงสำราญ ในจังหวะที่ปลามุดเข้าใต้สะพาน หากนักตกปลาตั้งใจสู้กับปลาด้วยวิธี "งัด" จากมุมสูง นั้นเท่ากับว่าคุณกำลังยัดเยียดความเสียหายให้กับคันเบ็ดของคุณอยู่ ทางที่ดีนักตกปลาควรจะลดคันลงตามปลา หรือถ้าหากจำเป็น ต้องจุ่มคันเบ็ดลงน้ำอย่างในรูปนี้ก็ต้องทำ
       ภาพต่อมาเป็นภาพการใช้คันเบ็ดในจังหวะปิดเกมส์ ในภาพจะเห็นได้ว่า นักตกปลาที่อยู่ทางด้านบนของภาพ ได้งัดปลาในเข้ามาสยบแทบเท้า แต่นักตกปลาที่อยู่ทางด้านล้าง เค้าปิดเกมส์ด้วยการสาวสายจูงปลาให้เข้าใกล้ ซึ่งวิธีนี้เราอาจไม่ค่อยได้เห็นนัก สำหรับบ้านเราที่ผมเห็นวิธีปิดเกมส์ที่ผมชอบที่สุดก็คือ "ใส่เกียร์ถอยหลัง" เราจะเห็นบ่อยๆตามบ่อตกปลาที่พอเมื่อปลาหมดแรงแล้วและพร้อมจะปิดเกมส์ เราจะเห็นนักตกปลาลดมุมคันเบ็ดลง แลวเดินถอยหลังจูงปลาเข้าถุงสวิง หรือจูงขึ้นตลิ่งก็สุดแต่สภาพจะอำนวย ซึ่งนี้เป็นวิธีที่ถูกต้อง เพราะการลดปลาคันลงต่ำ นั้นเท่ากับเป็นการลดโอกาสเสียหายที่จะเกิดขึ้นกับคันด้วย
       นักตกปลาต้องไม่ลืมว่า คันเบ็ดทำจากวัสดุที่สื่อกระแสไฟฟ้า แล้วกิจกรรมของเราก็อยู่ใกล้น้ำ ดังนั้นสิ่งที่นักตกปลาควรระวังก็คือ เรื่องของไฟฟ้าทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นไฟฟ้ารั่ว หรือตกปลาใกล้สายไฟฟ้าแรงสูงจนเกินไป ก็ล้วนแต่เป็นอันตรายทั้งสิ้น 


       และสุดท้ายนี้ คันเบ็ดก็ควรได้รับการดูแลและทำความสะอาดบ้าง แต่การทำควรสะอาดคันเบ็ดไม่มีความจำเป็นจะต้องไปใช้น้ำยาอะไรวิเศษวิโสมากมาย แค่น้ำผสมสบู่จางๆ จุ่มผ้าขนหนูนุ่มๆบิดหมาดๆ เช็ดให้ทั่วคันเบ็ด โดยเฉพาะอย่างยิ่งตามซอกขาไกด์ และบริเวณรีลซีท(แหวนรัดขารอก) หากมีเศษเหยื่อเกาะติดก็ให้ใช้แปรงสีฟันเก่าปัดเบาๆก็เพียงพอแล้ว อย่างในรูปนี้ ชี้ชัดเลยว่า การทำความสะอาดคันเบ็ดไม่ต้องการน้ำยาอะไรเลย และก็ไม่ควรจะใช้แปรงแข็งมาขัดถูด้วยความรุนแรงด้วย

       ฃอให้ คันเบ็ดของคุณอยู่คู่คุณไปตราบนานเท่านาน....

1 ความคิดเห็น:

  1. ไม่ระบุชื่อ28 เมษายน 2556 เวลา 20:11

    ยอดเยี่ยมที่ซู้ดดดดดเลยครับ ขอบคุณมากมายครับ

    ตอบลบ